วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

การใช้สติปัญญา



อัลกุรอานนั้น เป็นคัมภีร์ที่ไม่ได้สั่งสอนให้มนุษย์เชื่อและศรัทธาแต่อย่างเดียวเฉกเช่นคัมภีร์ในศาสนาอื่น ๆ หากแต่เรียกร้องและกระตุ้นเตือนให้มนุษย์นั้น ใช้สติปัญญาในการไตร่ตรอง และ คิดวิเคราะห์ อย่างมีขั้นตอน ตามรูปแบบของตรรกวิทยา และกระบวนการค้นหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์


" และมิเคยปรากฏว่าชีวิตใดจะศรัทธาเว้นแต่ด้วยอนุมัติของอัลลอฮ์ และพระองค์จะทรงลงโทษแก่บรรดาผู้ไม่ใช้สติปัญญา" (กุรอาน 10:100)

"โอ้บรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ ! เพราะเหตุใดเล่าพวกเจ้าจึงโต้เถียงกันในตัวของอิบรอฮีม และอัตเตารอต และอัลอินญีลนั้นมิได้ถูกประทานลงมา นอกจากหลังจากเขา แล้วพวกเจ้าไม่ใช้ปัญญาดอกหรือ" (กุรอาน 3:65)


"พวกเจ้าใช้ให้ผู้คนกระทำความดี โดยที่พวกเจ้าลืมตัวของพวกเจ้าเองกระนั้นหรือ ? และทั้ง ๆ ที่พวกเจ้าอ่านคัมภีร์กันอยู่ แล้วพวกเจ้าไม่ใช้ปัญญากระนั้นหรือ ?" (กุรอาน 2:44)

"....พวกท่านไม่ใช้ปัญญาดอกหรือ?" (กุรอาน 2:76)

"....อัลลอฮ์จึงทรงแจกแจงโองการทั้งหลายให้พวกเจ้าทราบ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ใคร่ครวญ" (กุรอาน 2:266)
"....ที่พระองค์ได้ทรงสั่งเสียมันไว้แก่พวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะใช้ปัญญา" (กุรอาน 6:151)

"แท้จริงในการสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน และสับเปลี่ยนกลางคืนและกลางวัน และเรือที่วิ่งอยู่ในทะเล พร้อมด้วยสิ่งที่อำนวยประโยชน์แก่มนุษย์ และน้ำ ที่อัลลอฮ์ได้ทรงให้หลั่งลงมาจากฟากฟ้า แล้วทรงให้แผ่นดินมีชีวิตชีวาขึ้น ด้วยน้ำนั้นหลังจากที่มันตายไปแล้ว และได้ทรงให้สัตว์แต่ละชนิด แพร่สะพัดไปในแผ่นดิน และในการให้ลมเปลี่ยนทิศทาง และให้เมฆซึ่งถูกกำหนดให้บริการ(แก่โลก) ผันแปรไประหว่างฟากฟ้าและแผ่นดินนั้น แน่นอนล้วนเป็นสัญญาณนานาประการแก่กลุ่มชนที่ใช้ปัญญา" (กุรอาน 2:164)



ในโองการข้างต้น ถ้าสังเกตให้ดีเราจะพบว่า กุรอานนั้น กำลังชี้นำให้มนุษย์ รู้จัก

1.การ สังเกต สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเขา
2.การตั้งคำถาม หรือ การตั้งสมมติฐาน เพื่อค้นหาที่มาของการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น
3.การวิเคราะห์ และการกระบวนการค้นหาคำตอบจากสิ่งที่สังเกต
4.การสรุปและการหาคำตอบจากสิ่งที่ได้ตั้งข้อสังเกตนั้น

ในประโยคที่ว่า “แน่นอนล้วนเป็นสัญญาณนานาประการแก่กลุ่มชนที่ใช้ปัญญา” นั้น เป็นข้อความที่ชี้ให้เห็นว่า บรรดาสิ่งต่าง ๆ ที่กุรอานกล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นเพียง สื่อ หรือ สัญญาณ ที่กำลังมุ่งชี้ให้เห็นอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านั้น และการที่จะเข้าใจมันได้ ก็ด้วยการอาศัยสติปัญญาตรึกตรอง และใคร่ครวญเท่านั้น


โองการนี้จึงเป็นข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง อิสลาม และศาสนาที่นับถือพระเจ้าอื่น ๆ ก็ด้วยเหตุที่ว่า ศาสนาที่นับถือพระเจ้าอื่น ๆ นั้น ล้วนแต่สั่งสอนให้สาวกศรัทธา และมีความเชื่อ อย่างแรงกล้า เพื่อที่จะเข้าหาพระเจ้า หากแต่อิสลามกลับมุ่งเน้นให้มนุษย์ใช้สติปัญญาพิจารณาสิ่งรอบตัว เพื่อค้นหาพระเจ้า ระบบการพิสูจน์พระเจ้าในศาสนาอิสลามจึง เริ่มจาก ... ผล... แล้วย้อนรอยกลับไปหา ...ต้นเหตุ...


เมื่อ ผล สืบถึง เหตุ ได้ ... เหตุ ก็สืบไปหา ผล ได้ ซ้ำไปซ้ำมาจนเกิดเป็นกระบวนการที่ซ้ำกัน ซึ่งก็คือ ข้อหนึ่งในหลักการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า ผลสรุปทางวิทยาศาสตร์นั้นย่อมมีการทำซ้ำได้ทุกครั้ง

พระเจ้า ในศาสนาอิสลาม จึงถูกพิสูจน์ซ้ำได้เสมอ นับแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน เมื่อผู้ใดก็ตามที่สงสัยการมีอยู่ของพระเจ้า กุรอาน จะบอกให้เขาผู้นั้น ย้อนกลับไปพิจารณาสิ่งที่อยู่รอบข้างเขาก่อนเสมอ เพราะแท้ที่จริงแล้ว ทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติย่อมเป็นพยานยืนยันการมีอยู่ของพระเจ้าเสมอ


ด้วยจิตคารวะ


(หากนำไปเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น: