วันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551

การศรัทธาในโลกหน้า..ทำไมและเพราะอะไร (ตอนที่ 2 )

2.เหตุผลของการศรัทธา คืออะไร

กุรอานได้บอกแก่เราว่า

“และชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้นั้นมิใช่อะไรอื่น นอกจากการเล่น และการเพลิดเพลินเท่านั้น และแน่นอนสำหรับบ้านแห่งอาคีเราะห์ นั้นดียิ่งกว่า สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง พวกเจ้าไม่ใช้ปัญญาดอกหรือ? (กุรอาน 6:32 )
อิสลามนั้น วางอยู่บนหลักปรัชญาพื้นฐานในการมีชีวิตอยู่ว่า “โลกนี้ถูกสร้างมาเพื่อนเรา แต่เราถูกสร้างมาเพื่อโลกหน้า” อันมีความหมายว่า บรรดาสิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ที่เราสัมผัสได้ ล้วนเป็นเพียงการตอบสนองต่อ มายาภาพ สิ่งทั้งหลายที่มากระทบนั้นล้วนไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงสิ่งที่มีขึ้น แล้วดับไป กุรอานได้อธิบายความรู้สึกเหล่านี้ด้วยประโยคที่ว่า

“และชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้นั้นมิใช่อะไรอื่น นอกจากการเล่น และการเพลิดเพลินเท่านั้น..”

โองการข้างต้น สะท้อนให้เห็นความไม่มีแก่นสารของสัมผัสเหล่านั้น มันถูกสร้างมาจากพระผู้อภิบาลของมัน เพียงเพื่อการตอบสนองความสุข และ ความทุกข์ บนโลกนี้เท่านั้น เพียงเพื่อให้มนุษย์ได้รู้จักแสวงหา รู้จักที่จะฝึกจิต และ เรียนรู้การแสวงหาสัจธรรม หรือ ความจริงสูงสุด

เมื่อโลกนี้ดับสูญ สิ่งเหล่านี้ก็ดับสูญในรูปลักษณ์ของมัน หน้าที่ของมันในโลกหน้าก็คือ การเป็นพยานยืนยันต่อสิ่งที่มนุษย์ได้เก็บเกี่ยวเอาไปจากมัน ความสวยงามที่เราเห็น จะฟ้องว่า ตอนที่เรามีชีวิตนั้น เราใช้มันทำอะไรบ้าง ... ใช้เสริมสวย ... ใช้เพื่อยั่วยวนราคะจริต หรือ ใช้เพื่อพิจารณาความเป็นไปของโลก ความน่าเกลียด ก็จะฟ้องเราว่า ตอนที่เรามีชีวิตนั้น เราใช้มันทำอะไรบ้าง ... ใช้ทำร้ายคนอื่น ... ใช้เพื่อสร้างความสนุกสนาน หรือ ใช้เพื่อจรรโลงใจเราให้สงบนิ่ง ดังที่กุรอานได้กล่าวว่า

“และสิ่งใดที่พวกเจ้ามิได้รับนั้น มันเป็นเพียงปัจจัยแห่งชีวิตของโลกนี้ และเป็นเครื่องประดับของมัน(*1*)แต่ที่อัลลอฮ์นั้นดีกว่าและจีรังกว่า(*2*)พวกเจ้าไม่ใช้ปัญญาใคร่ครวญดอกหรือ ?” (กุรอาน 28:60)

(1) คือสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้แก่มนุษย์ เช่น ทรัพย์สมบัติ และความดีต่าง ๆ นั้น มันเป็นเพียงปัจจัยเล็กน้อย ที่พวกเจ้าจะได้ใช้มันในชีวิตนี้เท่านั้น แล้วมันก็จะสูญสลายพินาศไป
(2) ส่วนที่อัลลอฮ์ทรงจัดเตรียมไว้ให้แก่บ่าวผู้ยำเกรงนั้น เช่น ผลบุญแห่งการตอบแทน และความโปรดปรานที่ยั่งยืนตลอดไปนั้นย่อมดีกว่าและประเสริฐกว่าปัจจัยที่สูญสลายยิ่งนัก


ดังนั้นสำหรับโลกนี้แล้ว จึงไม่มีอะไรมากไปกว่า สิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน ไม่มีตัวตนที่แท้จริง และ ไม่มีความมั่นคง หากแต่อิสลามนั้น ไม่ได้กล่าวว่า โลกนี้เป็นทุกข์ แต่อิสลามกล่าวว่า โลกนี้คือ บททดสอบ ทุกข์ในโลกนี้ ไม่จริง สุขในโลกนี้ไม่จริง ทุกอย่างเป็นไปเพื่อการทดสอบ เพื่อการแสวงหา และเพื่อการเข้าใจ

ความสุขในโลก มีไว้เพื่อทดสอบตัวมนุษย์เอง ว่าเขาจะหลงใหลไปกับมันหรือไม่ หรือ เพียงพอที่จะใช้ประโยชน์จากมัน ความทุกข์ก็เช่นกัน มีไว้เพื่อทดสอบตัวมนุษย์เอง ว่าเขาจะทุกข์ทรมานไปกับมันหรือไม่ หรือ เรียนรู้ที่จะใช้มันตักเตือนตนเอง กุรอานได้กล่าวว่า

“และเราได้แยกพวกเขาออกเป็นกลุ่มๆ ในแผ่นดิน จากพวกเขานั้นมีคนดี และจากพวกเขานั้นมีอื่นจากนั้น และเราได้ทดสอบพวกเขาด้วยบรรดาสิ่งที่ดี และบรรดาสิ่งที่ชั่ว..” (กุรอาน 7:168)

"ทุกชีวิตย่อมลิ้มรสความตาย และเราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยความชั่วและความดี และพวกเจ้าจะต้องกลับไปหาเราอย่างแน่นอน " (กุรอาน 21: 35)

ทุก ๆ การทดสอบล้วนมีผลตามมา กุรอานได้กล่าวว่า

“...ชีวิตนั้นจะได้รับการตอบแทนดีในสิ่งที่เขาได้แสวงหาไว้ และชีวิตนั้นจะได้รับการลงโทษในสิ่งชั่วที่เขาได้แสวงหาไว้..." (กุรอาน 2:286)

โลกหน้านั้น เป็นโลกแห่งการตอบแทน เป็นโลกที่จีรัง ยั่งยืน สภาพของโลกหน้านั้น ไม่มีใครรู้นอกจากที่กุรอานได้กล่าวไว้ และไม่มีใครเข้าใจในสิ่งที่กุรอานอุปมาโลกหน้าไว้ นอกไปจาก อัลเลาะห์ (ซบ.)

“จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) “ไม่มีผู้ใดในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินจะรู้ในสิ่งพ้นญาณวิสัย นอกจากอัลลอฮ์...” (กุรอาน 27:65)

การเดินทางสู่โลกหน้านั้น ไม่ใช่เรื่องของการตอบแทนความดี ความชั่ว ต้องแยกแยะตรงนี้ก่อน

การตอบแทนความดีความชั่วนั้น เป็นเรื่องของการกระทำ เป็นกฎแห่งกรรม ในขณะที่การเข้าสู่โลกหน้านั้นเป็นเรื่องของการศรัทธา กุรอานกล่าวว่า

“...ชีวิตนั้นจะได้รับการตอบแทนดีในสิ่งที่เขาได้แสวงหาไว้ และชีวิตนั้นจะได้รับการลงโทษในสิ่งชั่วที่เขาได้แสวงหาไว้..." (กุรอาน 2:286)

“ผู้ใดปรารถนาการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้และความเพริศแพร้วของมัน เราก็จะตอบแทนให้พวกเขาอย่างครบถ้วน ซึ่งการงานของพวกเขาในโลกนี้เท่านั้น และพวกเขาจะไม่ถูกลิดรอนในการงานนั้นแต่อย่างใด ชนเหล่านั้น พวกเขาจะไม่ได้รับการตอบแทนอันใดในโลกอาคิเราะฮ์ นอกจากไฟนรกและสิ่งที่พวกเขาได้ปฏิบัติไว้ในโลกดุนยาก็จะไร้ผลและสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้ก็จะสูญเสียไป” (กุรอาน 11: 15-16)

คุณลักษณะประการหนึ่งของอัลเลาะห์ คือ ความยุติธรรม แน่นอนว่าการตอบแทนการกระทำของมนุษย์นั้นก็ถูกวางอยู่บนหลักของความยุติธรรมเช่นกัน เมื่อมนุษย์ทำดี พระองค์ก็จะตอบแทนความดีแก่เขา และเมื่อเขาทำชั่ว พระองค์ก็จะตอบแทนความชั่วแก่เขา แต่สำหรับการตอบแทนในโลกหน้าที่จีรังยั่งยืนนั้น
พระองค์ได้กล่าวไว้แล้วว่า มีไว้สำหรับผู้ที่ศรัทธาต่อมันเท่านั้น ผู้ที่ไม่ศรัทธานั้น สภาพของเขาในโลกหน้าจึงเป็นได้แค่เพียง ผู้ที่ไม่เชื่อและปฏิเสธต่อโลกหน้า และกฎสำหรับโลกหน้านั้น สิ่งที่ผู้ปฏิเสธจะได้รับก็คือ ไฟนรก เท่านั้น

ด้วยเหตุที่ว่า เมื่อเขาไม่เชื่อในโลกหน้า ความดีและความชั่วทั้งหลาย จึงหมดลง และถูกตอบแทนจนหมดเพียงเฉพาะโลกนี้ เมื่อถึงโลกหน้า เขาจึงมีสภาพเหมือนที่กุรอานกล่าวไว้ว่า ผู้ที่ขาดทุน

“...แน่นอนพวกเขาได้ยังความขาดทุนให้แก่ตัวของพวกเขาเอง และสิ่งที่พวกเขาอุปโลกน์ขึ้นนั้น(คือ บรรดาพระเจ้าปลอม หรือ รูปปั้นทั้งหลาย) ได้หายหน้าจากพวกเขาไป” (กุรอาน 7:53 )

“และผู้ใดแสวงหาศาสนาหนึ่งศาสนาใดอื่นจากอิสลามแล้ว ศาสนานั้นก็จะไม่ถูกรับจากเขาเป็นอันขาด และในปรโลกเขาจะอยู่ในหมู่ผู้ขาดทุน” (กุรอาน 3:85)

แต่สำหรับผู้ที่ศรัทธาแล้ว การได้รับการตอบแทนในปรโลก คือ รางวัลของการศรัทธา ... ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ก่อน คำว่า การตอบแทนรางวัลของการศรัทธา กับ การตอบแทนการกระทำ

การตอบแทนรางวัลของการศรัทธา นั้น วางอยู่บนพื้นฐานของการศรัทธา หมายความว่า เมื่อเขาศรัทธา เขาจึงได้รับการตอบแทน ซึ่งก็คือ การที่เขาไม่ต้องลงสู่ไฟนรกอย่างผู้ขาดทุน

ส่วนการตอบแทนการกระทำ ก็คือ เมื่อเขาทำดี มากกว่า ความชั่ว เขาก็สามารถเข้าสู่สวงสวรรค์ได้ แต่หากเขาทำความชั่วมากกว่าความดี เขาก็ต้องไปรับการชดใช้ในนรก

ดังนั้น จะเห็นความแตกต่างก็คือ สำหรับผู้ที่ไม่เชื่อโลกหน้านั้น การกระทำของเขาจะได้รับการตอบแทนในโลกนี้ แต่โลกหน้านั้น เขาจะกลายเป็นเพียงเชื้อเพลิงให้กับไฟนรก ไม่มีการพิพากษาใด ๆ ไม่มีการอุทธรณ์ความดี หรือ ความชั่วใด ๆ แก่เขา … ในขณะที่ ผู้ที่ศรัทธานั้น การตอบแทนกระทำของเขา จะถูกแยกเป็น 2 ส่วน คือ ตอบแทนทั้งในโลกนี้ และ ในโลกหน้า สิ่งที่เป็นเกราะป้องกันไม่ให้เขาขาดทุนในโลกหน้า ก็คือ การศรัทธาในโลกหน้า นั่นเอง ให้เขาได้มีสิทธิ์ได้รับการพิพากษา ได้มีสิทธิ์ขอความช่วยเหลือจากบรรดา นบี ( ศาสดา) ส่วนเขาจะไปนรก หรือ สวรรค์ นั่นก็ขึ้นกับการกระทำของเขาเอง

ณ จุดนี้คงพอมองเห็นภาพรวมและเป้าหมายของการศรัทธาในโลกหน้าแล้ว ว่ามีเป้าหมาย เหตุผล และบทสรุปเช่นไร การใช้ชีวิตในโลกนี้ ก็เหมือนปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำนั่นแหละครับ ปลาย่อมคิดว่า โลกที่เห็น ก็คือ โลกที่เต็มไปด้วยน้ำ มองไปทางไหนก็มีแต่น้ำรอบตัวไปหมด โลกที่ไม่มีน้ำ จะมีอยู่จริงได้อย่างไร ... แต่เมื่อวันหนึ่งที่ได้ขึ้นมาอยู่บนโลกที่ไม่มีน้ำ ก็เพิ่งได้รู้ว่า โลกที่ไม่มีน้ำนั้นมีอยู่จริงๆ ... แต่มันก็สายไปแล้ว

“พระองค์นั้นคือผู้ที่ได้ส่งร่อซูลของพระองค์มาพร้อมด้วยคำแนะนำ และศาสนาแห่งสัจจะ เพื่อที่จะทรงให้ศาสนาแห่งสัจจะนั้นประจักษ์ เหนือศาสนาทุกศาสนา และแม้ว่าบรรดามุชริกจะชิงชังก็ตาม” (กุรอาน 9:33)

ด้วยจิตคารวะ
Kheedes

(สงวนสิทธิ์ หากนำไปเเผยแพร่ กรุณาระบุที่มา)

การศรัทธาในโลกหน้า..ทำไมและเพราะอะไร (ตอนที่ 1 )

ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน


มีคำถามหนึ่งได้ถามมายังผมว่า “ เหตุใด การเป็นมุสลิม ต้องศรัทธา ในโลกหน้า”
คำถามนี้ ผมขอแยกเป็น 2 คำถามย่อย เพื่อให้เข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือ
1.ทำไมต้องศรัทธา
2.เหตุผลของการศรัทธา คืออะไร


1.ทำไมต้องศรัทธา?

คำตอบที่ง่ายที่สุด และ เป็นเหตุผลของตัวมันเอง ก็คือ เพราะเป็นมุสลิม จึงต้องศรัทธาโลกหน้า... ถ้ายังงง เราลองย้อนไปดูหลักศรัทธา ของการเป็นมุสลิมกันก่อนดีกว่ามั้ย ครับ

หลักการศรัทธาของอิสลามนั้น มี 6 ประการหลัก ๆ ข้อแรก คือ การศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า และข้อที่ 5 คือ การศรัทธาในโลกหน้า
สิ่งที่เป็นข้อพิสูจน์ความจริง และการยอมรับศรัทธาในเรื่องโลกหน้านั้น มี 3 หนทางด้วยกัน

1.1 การศรัทธาในโลกหน้า เพราะ เป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้า ตรัสไว้
1.2 การศรัทธาในโลกหน้า เพราะท่านศาสดา ได้กล่าวไว้


1.1 การศรัทธาในโลกหน้า เพราะ เป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้า ตรัสไว้

กุรอาน นั้น คือ คำตรัสของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าจะส่วนหนึ่งส่วนใด หรือ ทั้งหมดก็ตาม กุรอานเองยืนยันตัวมันเองว่า ทุกส่วนของมันนั้น คือ คำตรัสของพระเจ้า และคำตรัสของพระเจ้า ย่อมเป็นสิ่งสัตย์จริงเสมอ

“..อัลกุรอานนั้น มิใช่อะไรอื่นนอกจากคำตักเตือนสำหรับประชาชาติทั้งหลายเท่านั้น” (กุรอาน 6: 90)

“ พวกเขาไม่พิจารณาดูอัล-กุรอานบ้างหรือ ? และหากว่า อัล-กุรอานมาจากผู้ที่ไม่ใช่อัลลอฮฺแล้วแน่นอนพวกเขาก็จะพบว่าในนั้นมีความขัดแย้งกันมากมาย” (กุรอาน 4: 82)

“ และอัลกุรอานนี้มิใช่จะถูกปั้นแต่งขึ้นโดยผู้ใดนอนจากอัลลอฮ์ เป็นการยืนยันคัมภีร์ที่มีมาก่อน และเป็นการจำแนก ข้อบัญญัติต่าง ๆ ในนั้น ไม่มีข้อสงสัยในคัมภีร์นั้น ซึ่งมาจากพระเจ้าแห่งสากลโลก” (กุรอาน 10: 37)


กุรอาน หรือ คำตรัสของพระผู้เป็นเจ้านั้น ได้บอกแก่เราถึงเรื่องความตาย และ เรื่องโลกหน้าไว้ในหลายส่วนด้วยกัน เช่น


"ทุกชีวิตย่อมลิ้มรสความตาย และเราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยความชั่วและความดี และพวกเจ้าจะต้องกลับไปหาเราอย่างแน่นอน " (กุรอาน 21: 35)

“ผู้ที่ศรัทธาในคัมภีร์ ที่เราได้ส่งมาให้แก่เจ้า และในคัมภีร์ที่เราได้ส่งมา ก่อนหน้าเจ้า และเชื่อมั่นในโลกหน้า” (กุรอาน 2:4 )

“และชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้นั้นมิใช่อะไรอื่น นอกจากการเล่น และการเพลิดเพลินเท่านั้น และแน่นอนสำหรับบ้านแห่งอาคีเราะห์ นั้นดียิ่งกว่า สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง พวกเจ้าไม่ใช้ปัญญาดอกหรือ? (กุรอาน 6:32 )

“และแท้จริงบรรดาผู้ไม่ศรัทธาต่อโลกหน้านั้น เราได้เตรียมไว้สำหรับพวกเขาแล้วซึ่งการลงโทษอันเจ็บแสบ” (กุรอาน 17:10 )



1.2 การศรัทธาในโลกหน้า เพราะ เป็นสิ่งท่านศาสดา กล่าวไว้

ท่านศาสดามูฮัมมัด (ซล.) ได้ถูกกล่าวไว้ว่า ท่านคือ ผู้นำ และ ผู้สืบสาส์นจากพระเจ้า มายังมนุษย์ ทุกสิ่งที่ท่านกล่าวหรือ บอกให้เรารู้นั้น ไม่ได้มาจากตัวท่านเอง หากแต่มาจากการดลใจของพระผู้เป็นเจ้า

“..และเจ้าจงปฏิบัติตามที่ถูกวะฮีย์ (ดลใจ)แก่เจ้าและจงอดทน..” (กุรอาน 10:109 )

“และในทำนองนั้น เราได้ให้อัลกุรอานแก่เขาไว้เป็นข้อชี้ขาดที่เป็นภาษาอาหรับ…” (กุรอาน 13:37 )

“และจงอ่านสิ่งที่ถูกวะฮี (ดลใจ) แก่เจ้า จากคัมภีร์ของพระผู้เป็นเจ้าของเจ้า ไม่มีผู้ใดเปลี่ยนแปลงคำกล่าวของพระองค์ และเจ้าจะไม่พบที่พึ่งใด ๆ เลยนอกจากพระองค์” (กุรอาน 18:27 )

จาก อบูมุฮัมมัด อับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ บิน อัล อาศ รอฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า "คนหนึ่งคนใดในพวกท่าน ไม่มีศรัทธา (ที่แท้จริง ที่สมบูรณ์) จนกว่าความต้องการ ของเขาจะตาม (เห็นด้วยกับ) สิ่งที่ฉันได้นำมา (สอนแก่ท่าน)" ( หะดีษหะซัน เศาะฮีหฺ)


ท่านศาสดา ได้กล่าวถึงเรื่องโลก หรือ กล่าวพาดพิงไปยังโลกหน้า ( กิยามะห์ และ อาคิเราะห์ ) ไว้ เช่น


"พึงทราบเถิดว่า ผู้ใดก็ตามที่กดขี่ต่อ ผู้มีพันธะสัญญา หรือ ล่วงละเมิด หรือ ให้เขารับผิดชอบในสิ่งที่เกินกำลังของเขา หรือ เอาสิ่งใดจากเขา โดยที่เขาไม่เต็มใจ ดังนั้น ฉันจะโต้แย้งกับเขาในวันกิยามะฮ" (รายงานโดยอบูดาวูด)

จาก อบู ฮุร็อยเราะฮฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า

" ผู้ใดศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และศรัทธาต่อวันสุดท้าย เขาจักต้องพูดจาที่ดีๆหรือไม่ก็เงียบ และผู้ใดศรัทธาในอัลลอฮฺและวันสุดท้าย เขาจักต้องให้เกียรติเพื้อนบ้านของเขา และผู้ใดศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันสุดท้าย เขาจักต้องให้เกียรติแขกของเขา" ( หะดีษนี้ บันทึกโดย บุคอรี มุสลิม)


หะดิษ ( คำพูด) นี้มีนัยยะสำคัญซ่อนอยู่ สังเกตให้ดีจะเห็นว่า ท่านศาสดานั้น เน้นย้ำอยู่กับ 2 สิ่งที่สำคัญยิ่ง นั่นคือ พระผู้เป็นเจ้า และ วันสุดท้าย หรือ โลกหน้า อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า ความสำคัญของการศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้านั้น มีปลายทางอยู่ที่ การเดินทางสู่โลกหน้านั่นเอง


ดังนั้น จะเห็นได้ว่า หลักฐานการอ้างอิงเรื่องโลกหน้า นั้น มิใช่การนึกฝันหรือ พูดเอาเองจากใคร หากแต่มีหลักฐานชัดแจ้งมาจาก พระผู้เป็นเจ้า และ ผู้นำสาส์นของพระองค์ จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ผู้ที่ยอมรับในศาสนาอิสลาม จะปฏิเสธความศรัทธาในเรื่องนี้

หากเราศรัทธาในศาสนาอิสลามด้วยเชื่อว่า มีพระเจ้าที่แท้จริงอยู่แล้ว เช่นนั้น เหตุใดจึงไม่ศรัทธาในสิ่งที่พระองค์ตรัสเล่า?

หากเราศรัทธาในศาสนาอิสลามด้วยเชื่อว่า กุรอานนั้นคือ ความสัตย์จริงบนโลกแห่งการหลอกลวงใบนี้แล้ว เช่นนั้น เหตุใดจึงไม่ศรัทธาในสิ่งที่กุรอาน กล่าวว่า มันมีอยู่จริงเล่า?

และหากเราศรัทธาในศาสนาอิสลามด้วยเชื่อว่า ท่านศาสดาคือ ผู้นำสาส์นที่แท้จริงจากพระเจ้ามาสู่มนุษย์แล้ว เช่นนั้น เหตุใดจึงไม่ศรัทธาในสิ่งที่ท่านศาสดาได้กล่าวตักเตือนเราไว้เล่า ?



หลักศรัทธาในศาสนาอิสลามนั้น มิได้ถูกจำแนกแยกย่อยเป็นปัจเจก หรือ ดำรงอยู่อย่างเอกเทศได้ แต่ หลักศรัทธาทั้งหมดนั้น มีที่มาจากหลักการศรัทธาเพียงข้อเดียวคือ “ลาอิลาฮฺ ฮาอิลลัลเลาะห์” หรือ “ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลเลาะห์” เราเลือกที่จะศรัทธาข้อนั้น ไม่ศรัทธาข้อนี้ ไม่ได้ เพราะ ดังได้กล่าวแล้วว่า ... การศรัทธาในศาสนาอิสลามนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาจำแนกแยกย่อยพิจารณา หากแต่ทั้งหมด คือ องค์ประอบที่รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้


ดังนั้น การศรัทธาในโลกหน้านั้น จึงมิใช่เป็นการศรัทธาในตัวตน หรือการมีอยู่อย่างเอกเทศของมัน หากแต่มันเป็นผลผลิตของความศรัทธา ที่มีต่อแก่นของศาสนาอิสลาม .... ความศรัทธาสูงสุดของอิสลามนั้นคือ การศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียว และ การศรัทธาในข้ออื่นๆ นั้น ก็คือ ผลที่เกิดขึ้นตามมาจากการศรัทธา ในพระผู้เป็นเจ้า นั่นเอง …. หากการศรัทธาในศาสนาอิสลามคือต้นไม้ 1 ต้น แก่นของลำต้นนั้นก็คือ การศรัทธาในพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว และการศรัทธาในข้ออื่น ๆ ก็คือ บรรดา ใบ ดอก และ ผลของมัน ... แน่นอนว่า ต้นไม้ นั้นอาจอยู่ได้ด้วยแก่นของมัน แต่ มันจะเป็นต้นไม้ที่สมบูรณ์ไม่ได้ หากว่า ใบ ดอก และผลของมันไม่งอกเงยออกมา และไม่ถูกยอมรับ


ต้นแอบเปิ้ล จะเป็นต้นแอปเปิ้ลที่สมบูรณ์ได้อย่างไร หากว่า มันไม่เคยมีใบ หรือ ผลแอปเปิ้ลออกมาเลย สักครั้งเดียว.... ความศรัทธาก็เช่นกัน จะสมบูรณ์ได้อย่างไร เมื่อมันถูกปฏิเสธองค์ประกอบของการศรัทธาทิ้งไป....


วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2551

เยซู...ในทัศนะของอิสลาม

ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน


....ทุกวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี จะมีเทศกาลหนึ่งที่สำคัญต่อชาวคริสต์ และปัจจุบันอาจจะกลายเป็นวันสำคัญของชาวโลกไปแล้วด้วยซ้ำ ซึ่งก็คือ วันคริสต์มาส หรือวันเฉลิมฉลองแห่งการประสูติของพระคริสต์ หรือ จีซัส... หรือในศาสนาอิสลาม คือ ท่านนบีอีซา อะลัยฮิสสลาม ในโอกาสนี้จึงขอนำเสนอเรื่องราวของท่านนบีอีซา (อ.ล.)ในมุมมองของศาสนาอิสลามครับ


...ท่านนบีอีซา (อ.ล.)นั้น ถือเป็นหนึ่งใน 25 ศาสนทูตแห่งพระผู้เป็นเจ้า และเป็น 1 ใน 5 บุคคลที่พระผู้เป็นเจ้ายกย่องเกียรติในฐานะ "อูลุ้ลอัสมิ" หรือ"ผู้มีความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยว" ตามหลักศรัทธานั้น มุสลิมทุกคนจำต้องศรัทธาต่อบรรดาศาสนทูตทุกท่านอย่างเท่าเทียมกัน...ซึ่งนั่นหมายถึงการ ศรัทธาต่อท่านนบีอีซา เฉกเช่นเดียวกับ ท่านนบีมูฮัมมัด (ศ.ล.)...หากแต่ว่าแนวทางการดำรงชีวิตและหลักปฏิบัตินั้น ต้องดำเนินตามท่านนบีมูฮัมมัด (ศ.ล.)ในฐานะนบีคนสุดท้าย และเป็นตราประทับแห่งบรรดานบีทั้งมวล


....ตามหลักฐานจากกุรอานนั้น กล่าวไว้ว่า พระนางมัรยัม (พระนางมารีย์)นั้น...ตั้งครรภ์ด้วยอำนาจแห่งพระผู้เป็นเจ้า โดยมีท่านญิบรีล (กาเบรียล)เป็นผู้รับสนองพระบัญชา โดยนำพระวิญญาณมาปฏิสนธิในครรภ์ของพระนางมารีย์ ด้วยวิธีที่เหนือธรรมชาติ ทำให้พระนางสามารถตั้งครรภ์ได้โดยไม่ต้องมีสัมพันธ์กับชายใด และไม่มีอาการเจ็บครรภ์หรือทรมานเฉกเช่นมนุษย์ทั่วไป



....ท่านนบีอีซา (อ.ล.) ประสูติเมื่อใด กุรอานไม่ได้ระบุวันที่ไว้



...แต่จากการคำนวณโดยนักวิชาการมุสลิมที่อาศัยหลักฐานบางประการ(จากกุรอาน) นั่นคือ พระนางคลอดใต้ต้นอินทผาลัม และเมื่อพระนางคลอดนั้น พระนางได้ใช้ผลอินทผาลัมกินเพื่อประทังความหิว จึงคาดคะเนว่า ท่านนบีน่าจะประสูติในเดือนสิงหาคม - กันยายน (ซึ่งเป็นฤดูที่อินทผาลัมสุกงอม) และจากหลักฐานที่ว่า "ปราชญ์ 3 คนเดินทางมาจากทางทิศตะวันออก โดยตามดวงดาวจรัสแสงมายังแคว้นยูดาย" (มัทธิว 2.1-12) ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกโบราณ และปทานุกรมเวนเฮียนตุงของ หม่าตวนหลิน (ปราชญ์ชาวจีน) ที่ระบุว่า มีดาวหางปรากฏในวันที่ 25 สิงหาคม ก่อนคริสตศักราชประมาณ 12 ปี(เมื่อเทียบตามปฏิทินจีน) โดยกล่าวว่า มันปรากฏให้เห็นถึง 63 วัน ...และจากข้อสันนิษฐาน ของการคำนวณทางดาราศาสตร์อิสลามระบุว่า ดาวหางนั้น คือดาวหางฮัลเลย์ นั่นเอง จึงอาจกล่าวได้ว่า ท่านนบีน่าจะถือกำเนิดในวันที่ 25 สิงหาคม (ตามความเชื่อของมุสลิม)



ชีวิตและภารกิจของท่านนบีอีซา (อ.ล.)นั้นดำเนินไปตามที่ไบเบิ้ลได้กล่าวไว้ (ซึ่งไม่ขอกล่าวซ้ำอีก) จะมีแต่เพียงการกระทำบางประการที่ไบเบิ้ลไม่ได้กล่าวไว้ คือ เรื่องที่ท่านนบีอีซา (อ.ล.)พูดได้ตั้งแต่เด็ก เพื่อปกป้องพระนางมัรยัม จากการถูกใส่ร้ายว่าผิดประเวณี ดังที่กุรอานกล่าวว่า


"แล้วนางได้พาเขามายังหมู่ญาติของนางโดยอุ้มเขามาพวกเขากล่าวว่า “โอ้ มัรยัมเอ๋ย ! แท้จริงเธอได้นำเรื่องประหลาดมาแล้ว....โอ้ น้องหญิงของฮารูน พ่อของเธอมิได้เป็นชายชั่ว และแม่ของเธอก็มิได้เป็นหญิงไม่บริสุทธิ์" นางชี้ไปทางเขา (ท่านนบีอีซา (อ.ล.)) ... พวกเขากล่าวว่า “เราจะพูดกับผู้ที่อยู่ในเปลที่เป็นเด็กได้อย่างไร?”... เขา (อีซา) กล่าวว่า “แท้จริงฉันเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ พระองค์ทรงประทานคัมภีร์แก่ฉันและทรงให้ฉันเป็นนบี...และพระองค์ทรงให้ฉันได้รับความจำเริญ ไม่ว่าฉันจะอยู่ ณ ที่ใด และทรงสั่งเสียให้ฉันทำการนมัสการและบริจาคทานตราบที่ฉันมีชีวิตอยู่....และทรงให้ฉันทำดีต่อมารดาของฉันและจะไม่ทรงทำให้ฉันเป็นผู้หยิ่งยะโส ผู้เลวทรามต่ำช้า....และความศานติจงมีแด่ฉัน วันที่ฉันถูกคลอด และวันที่ฉันตาย และวันที่ฉันถูกฟื้นขึ้นให้มีชีวิตใหม่” (กุรอาน 19:27-33)



และอีกเรื่องคือ การที่ท่านนบีอีซา (อ.ล.) แสดงสัญญาณมหัศจรรย์ให้ปรากฏเพื่อยืนยันว่าพระองค์ถูกส่งมาจากพระผู้เป็นเจ้าจริง ๆ นั่นคือ การเสกนกที่ปั้นจากก้อนดินให้กลายเป็นนกที่มีชีวิตจริง ๆ ดังที่กุรอานกล่าวไว้ว่า


"...แท้จริงนั้นได้นำสัญญาณหนึ่งจากพระเจ้าของพวกท่านมายังพวกท่านแล้ว โดยที่ฉันจะจำลองขึ้นจากดินให้แก่พวกท่าน ดั่งรูปนก แล้วฉันจะเป่าเข้าไปในมัน แล้วมันก็จะกลายเป็นนก ด้วยอนุมัติของอัลลอฮ์ และฉันจะรักษาคนตาบอดแต่กำเนิด และคนเป็นโรคเรื้อน และฉันจะให้ผุ้ที่ตายแล้วมีชีวิตขึ้น ด้วยอนุมัติของอัลลอฮ์ และฉันจะบอกพวกท่านถึงสิ่งที่พวกท่านจะบริโภคกันและสิ่งที่พวกท่านสะสมไว้ในบ้านของพวกท่าน แท้จริงในนั้น( มีสัญญาณหนึ่งสำหรับพวกท่าน หากพวกท่านเป็นผู้ศรัทธา" (กุรอาน 3:49)


...อิสลามได้ยกย่องท่านนบีอีซา (อ.ล.) ไว้หลายประการ ได้แก่การยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของพระนางมัรยัม... ซูเราะห์(บท)ที่ 19 แห่งกุรอาน ใช้ชื่อว่า มัรยัม เพื่อเป็นการให้เกียรติพระนาง ชื่อของท่านนบีอีซา (อ.ล.)ถูกกล่าวไว้ในกุรอานอย่างน้อย 25 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีหะดิษรายงานว่า


"ไม่มีลูกหลานของอาดัมคนใด ที่เกิดมาโดยไม่ถูกซัยตอน (ซาตาน) ทำร้าย...เว้นเสียแต่มัรยัมและลูกของนาง(คือท่านนบีอีซา (อ.ล.)) (รายงานโดยมุสลิม และบุคอรีย์)


และสิ่งสำคัญเกี่ยวกับท่านนบีอีซา (อ.ล.)ที่มุสลิมต่างเฝ้ารอ ก็คือการปรากฏตัวอีกครั้ง ของท่านนบีอีซา (อ.ล.) ก่อนวันสิ้นโลก


ท่านนบีมูฮัมมัด(ศ.ล.)กล่าวว่า


"ที่มัสยิดแห่งหนึ่ง ในมะนะรัก (หอคอยอะซาน) ซึ่งอยู่ทางเหนือหรือทางด้านตะวันตก ขณะที่อิมามมะฮฺดีและบรรดาผู้ศรัทธากำลังจะละหมาดซุบฮฺ นบีอีซาจะลง (ที่เสาอะซานนั้น) มาจากฟ้า (บันทึกโดยบุคอรีย์)

...ท่านจะลงมาเพื่อกำจัดความชั่วช้าต่าง ๆ ในโลกนี้...และรวมชาวคัมภีร์ (ยิว , คริสต์และมุสลิม) ให้เป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด...



ขอพระผู้เป็นเจ้าประทานความจำเริญแด่ท่านนบีอีซา และผู้ศรัทธาทุกท่าน

ด้วยจิตคารวะ

(หากนำไปเเผยแพร่ กรุณาระบุที่มา)

วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551

สัดส่วนอันงดงาม จากวิทยญาณอันยิ่งใหญ่

สัดส่วน ( Proportion )

... ตามพจนานุกรมให้ความหมายว่า ส่วนผสมของสิ่งต่าง ๆ ตามอัตราที่กําหนด จากความหมายข้างต้น ทำให้เรารู้ว่า การจะใช้คำว่าสัดส่วนกับสิ่งใดนั้น ย่อมต้องมีองค์ประกอบ อยู่ 3 ประการ อันได้แก่


1.ผู้กำหนดอัตราส่วน
2. อัตราส่วนที่ถูกกำหนด และ
3.สิ่งที่ถูกกำหนดอัตราส่วนไว้

ในกุรอาน ซูเราะห์ อัล – กอมัรฺ ( บทที่ 54 ) อายะห์ที่ 49 ความว่า
“แท้จริงทุก ๆ สิ่งนั้นเราสร้างมันตามสัดส่วน”

ในกุรอาน ซูเราะห์ อัล – อะอฺลา ( บทที่ 87) อายะห์ที่ 2 ความว่า
“ผู้ทรงสร้าง และผู้ทรงทำให้สมดุลย์”

ในกุรอาน ซูเราะห์ อัล – อิมฟิฏอรฺ ( บทที่ 82) อายะห์ที่ 7 ความว่า
ผู้ทรงบังเกิดเจ้า แล้วทรงทำให้เจ้าสมบูรณ์ แล้วก็ทรงทำให้เจ้าสมส่วน”


ความสำคัญของ อายะห์ต่างๆ ในข้างต้นนั้น ได้ชี้นำให้เราให้ถึงการสร้างสรรค์ ที่ยิ่งใหญ่ การสร้างสรรค์ที่เต็มไปด้วยวิทยญาณ มีการกำหนดสัดส่วน อัตราส่วน และ ความสมบูรณ์ของการสร้างสรรค์ไว้อย่างสมบูรณ์
ความมหัศจรรย์ของการสร้างสรรค์ด้วยสัดส่วนที่สวยงามและสมบูรณ์เช่นนี้ ได้ถูกค้นพบมากขึ้นหลังจากที่มนุษย์ได้พิจารณาถึงการสร้างสรรค์ในธรรมชาติของเขาอย่างถี่ถ้วน ... ตัวอย่างเช่น วิทรูเวียส (Vitruvius) สถาปนิกยุคจักรวรรดิโรมัน เป็นผู้อธิบายสัดส่วนโครงสร้างมนุษย์ไว้อย่างละเอียด และเขียนไว้ เป็นตำรา ตกทอดมาถึงยุคเรอเนซองซ์ โดยสรุปไว้ว่า


เมื่อคนยืนกางแขนกางขา ก็จะมีสัดส่วน ลงพอดีในกรอบรูปวงกลมและจัตุรัส เป็น homo ad circulum และ homo ad quadratum หรือ “คนในวงกลม-คนในจัตุรัส” โดยมีสะดือเป็นจุดศูนย์กลาง ภาพรวมของร่างกายมนุษย์สัตว์ประเสริฐ จึงเป็นรูปทรงเรขาคณิตที่สมบูรณ์

ต่อมาเลโอนาร์โด ดาร์วินชี ได้ใช้ข้อมูลจากการศึกษาของตนเองมาเปรียบเทียบกับคำอธิบายของวิทรูเวียส และแสดงสิ่งที่ วิทรูเวียสกล่าวไว้ให้เห็นเป็นภาพจริงได้



ภาพ Vitruvian Man ที่เลโอนาร์โด วาดไว้


และเมื่อเรานำหลักการทางคณิตศาสตร์มาประกอบ โดยสร้างรูป สามเหลี่ยมที่วัดระยะสัดส่วน จากแนวกางแขนของมนุษย์ถึงปลายเท้า จะได้รูปสามเหลี่ยมด้านเท่า พอดี ในทางกลับกันหากสร้างรูปสามเหลี่ยมจากศีรษะถึงหัวเข่า จะมีอัตราส่วนเป็น สามเหลี่ยมด้านเท่าเช่นกัน

นอกจากนี้ หากเราเอาความสูงของเรา หารด้วยความสูงจากพื้นถึงสะดือจะมีค่าเท่ากับ 1.618 ในขณะเดียวกัน ความยาวจากหัวไหล่ถึงปลายนิ้วมือ หารด้วยความยาวจากปลายนิ้วมือถึงข้อศอกก็เท่ากับ 1.618 เช่นกัน


1.618 นั้น ก็คือ สัดส่วนทองคำ หรือ golden ratio หรือ golden proportion นั่นเอง ซึ่งเป็นสัดส่วนมหัศจรรย์ที่ถูกนำไปใช้ในหลายวงการ เช่น คณิตศาสตร์ , ศิลปกรรม , สถาปัตยกรรม หรือ แม้แต่การทำศัลยกรรมความงาม ความมหัศจรรย์ของตัวเลขดังกล่าว นอกจาก จะเป็นสัดส่วนที่ได้รับการยอมรับว่าสวยงามที่สุด และ ปรากฏอยู่ในสัดส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมนุษย์แล้ว ยังเกี่ยวโยงไปถึงสัดส่วนอื่นๆ ในธรรมชาติอีกด้วย

... ตัวอย่างเช่น ผึ้งตัวเมียจะมีจำนวนมากกว่าผึ้งตัวผู้เสมอ แล้วถ้าเราลองนำจำนวนทั้งหมดของผึ้งตัวเมียหารด้วยจำนวนทั้งหมดของผึ้งตัวผู้ไม่ว่ารังใดก็ตามในโลกนี้ ค่าที่ได้ก็คือ 1.618 เสมอ , การจัดเรียงเกสรของดอกทานตะวัน ตาสับปะรด ตาลูกสน เปลือกหอยที่เป็นเกลียวรอบ ต่างก็มีอัตราส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของแต่ละวงเทียบกับวงถัดไปเท่ากับ 1.618 เช่นกัน


สุดท้าย ในตัวเราเอง จังหวะการเต้นของหัวใจคนเราจังหวะยาว จะยาวกว่าจังหวะสั้น มีค่าประมาณ 1.618 เท่า เช่นกัน


ภาพแสดง golden proportion


นอกจากสัดส่วน golden proportion ที่กล่าวมาแล้ว เรายังพบว่า สัดส่วนอื่น ๆ ของมนุษย์นั้นก็ถูกสร้างขึ้นอย่างมีระบบและ อัตราส่วนที่สัมพันธ์กัน ตัวอย่างเช่น สัดส่วนของแขนมนุษย์


1.สัดส่วนของ กระดูกข้อนิ้วข้อแรกสุดส่วนปลาย + สัดส่วนกระดูกของข้อนิ้วส่วนกลาง = สัดส่วนกระดูกนิ้วข้อสุดท้ายที่อยู่ติดกับมือ

2.สัดส่วนของกระดูกนิ้ว 3 ข้อ รวมกัน = สัดส่วนของกระดูกส่วนฝ่ามือ

3.สัดส่วนของแขนท่อนล่าง จะยาวเท่ากับ สัดส่วนของฝ่ามือเพียงอย่างเดียว + ความยาวของข้อมือถึงปลายนิ้ว



ภาพแสดง สัดส่วนต่าง ๆ ของมือ


ความมหัศจรรย์ ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นประจักษ์พยานที่ดีของการสร้างสรรค์จากพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงยิ่งด้วยวิทยปัญญา ... เพียงแค่ ความบังเอิญ และไร้เจตนา จะสร้างสิ่งมหัศจรรย์ได้เพียงนี้หรือ?


แท้จริง การมีอยู่ของสรรพสิ่งในธรรมชาตินั้น ล้วนเป็นประจักษ์พยานแห่งการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า

"....อัลลอฮ์จึงทรงแจกแจงโองการทั้งหลายให้พวกเจ้าทราบ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ใคร่ครวญ" (กุรอาน 2:266)


"แท้จริงในการสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน และสับเปลี่ยนกลางคืนและกลางวัน และเรือที่วิ่งอยู่ในทะเล พร้อมด้วยสิ่งที่อำนวยประโยชน์แก่มนุษย์ และน้ำ ที่อัลลอฮ์ได้ทรงให้หลั่งลงมาจากฟากฟ้า แล้วทรงให้แผ่นดินมีชีวิตชีวาขึ้น ด้วยน้ำนั้นหลังจากที่มันตายไปแล้ว และได้ทรงให้สัตว์แต่ละชนิด แพร่สะพัดไปในแผ่นดิน และในการให้ลมเปลี่ยนทิศทาง และให้เมฆซึ่งถูกกำหนดให้บริการ(แก่โลก) ผันแปรไประหว่างฟากฟ้าและแผ่นดินนั้น แน่นอนล้วนเป็นสัญญาณนานาประการแก่กลุ่มชนที่ใช้ปัญญา" (กุรอาน 2:164)




ด้วยจิตคารวะ
Kheedes

(หากนำไปเเผยแพร่ กรุณาระบุที่มา)

วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

แบบฉบับ ท่านนบีมูฮัมหมัด (ศล.) ...แบบฉบับแห่งอิสลาม


ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่านครับ

ในการดำเนินชีวิตของมุสลิมนั้น เราล้วนต้องประสบ พบกับผู้คนมากหน้า หลายตา ทั้งผู้ที่เป็นมุสลิม หรือไม่ใช่มุสลิมก็ตาม ... เราอาจพบกับคำถามมากมาย พบกับคำชมเชย พบกับคำกล่าวว่าร้าย สิ่งหนึ่งที่เรา ในฐานะที่เป็นมุสลิมต้องปฏิบัติก็คือ การสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเราได้รับคำชม ... การอดทนอดกลั้น ต่อ คำกล่าวให้ร้าย ..และการชี้แจงความเข้าใจที่ถูกต้อง แก่ผู้ที่สงสัย ในอิสลาม

ท่านนบีมูฮัมหมัด (ศ.ล.) ไม่เคยกล่าววาจาหยาบคาย หรือ ทุบตี ทำร้าย แก่คนที่สงสัยในศาสนาอิสลาม หรือ คนที่ว่าร้ายต่อท่านเลย

...อนัส อิบนุมาลิกได้รายงานว่า “ ตลอด 10 ปีที่เขารับใช้ท่านรอซู้ล เขาไม่เคยได้ยินท่านรอซู้ลพูดคำหยาบแม้แต่ครั้งเดียว และท่านรอซู้ล ก็ไม่เคยดุด่า ว่ากล่าวท่านด้วย แม้ท่านจะทำงานผิดพลาดไปบ้าง”

จากท่านหญิงอาอิชะห์ (รฎ.) ภริยาท่านนบี เล่าว่า

“ท่านนบี ไม่เคยตบตีคนรับใช้ หรือ ดุด่าว่ากล่าวคนที่ว่าร้ายท่านแม้แต่ครั้งเดียว”

ครั้งหนึ่ง ท่านนบีเดินทาง ไปประกาศศาสนาอิสลามที่เมืองตออีฟ ประชาชนที่เมืองนั้น ปฏิเสธไม่รับศาสนาอิสลาม พร้อมกับประณามท่านนบีด้วยความโกรธแค้น ...ท่านนบี ต้องถูกขว้างปาด้วยก้อนหินจนโชกเลือด บาดเจ็บสาหัส ...ถูกกลั่นแกล้งให้สุนัขไล่กัด ....ญิบรีล ( กาเบรียล) ได้ลงมาหาท่าน และถามท่านว่า จะให้จัดการกับชาวเมืองเหล่านั้นหรือไม่ ... แต่ท่านนบีกลับวิงวอน ขอต่อพระผู้เป็นเจ้าว่า “โอ้อัลลอฮ์ ขอได้โปรดอภัยให้กับพวกนั้นเถิด เพราะพวกเขาไม่รู้”

หรือตัวอย่างเช่น ในวันหนึ่ง กลางเมืองมักกะห์ อบูญาฮัล เห็นท่านนบีเดินมา จึงเดินเข้าไปด่าว่า และพูดจาดูถูกท่านนบี และศาสนาอิสลาม รวมทั้งเรียกชื่อท่านนบีด้วย คำพูดที่น่ารังเกียจยิ่ง แต่ท่านนบีก็ไม่ได้ตอบโต้อะไร ....ท่านกลับเดินหนีออกมา และเดินกลับบ้านไป โดยไม่ใส่ใจต่อ สิ่งที่อบูญาฮัลได้กระทำต่อท่าน

ในการประทานโอวาทครั้งสุดท้ายของท่านนบี ตอนหนึ่ง ท่านได้กล่าวว่า

“โอ้ประชาชนทั้งหลาย บรรดาข้าทาสคนใช้ของพวกท่านที่อยู่ในความดูแลของพวกท่านนั้นจงเลี้ยงดูพวกเขาเช่นอาหารที่พวกท่านรับประทาน และให้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มแก่พวกเขาด้วยเครื่องนุ่งห่มที่พวกท่านใช้ หากพวกเขาได้กระทำในสิ่งที่เป็นความผิดพลาดชนิดที่ท่านไม่ปรารถนาที่จะอภัยให้พวกเขา ก็จงแยกทางกับเขาเสีย อย่าทำร้ายเฆี่ยนตีทำทารุณพวกเขา เพราะเขาต่างก็เป็นบ่าวของพระองค์เช่นเดียวกับพวกเรา

นอกจากนี้ ท่านนบียังได้กล่าวไว้เป็นแบบอย่าง และเป็นข้อตักเตือนแก่ ประชาชาติมุสลิมว่า

" พวกท่านพึงสอน แต่อย่าก้าวร้าว เพราะผู้สอนที่แท้จริงนั้น ย่อมประเสริฐกว่าผู้ก้าวร้าว” (รายงานโดย อิบนุอะดีย์ และ ท่านอื่นๆ จาก อบีฮุรอยเราะหฺ)

“พวกท่านพึงสอน พวกท่านพึงทำให้ง่าย พวกท่านอย่าทำให้ยาก พวกท่านพึงสร้างความปิติ (แก่ผู้อื่น)อย่าสร้างความหน่ายแหนง ....เมื่อผู้ใดในพวกท่านโกรธ เขาจะต้องสงบ (ระงับไว้อย่าบันดาลความโกรธ) "(รายงานโดย อะหมัด และ บุคอรีย์ จาก อิบนิอับบาส)

มีชายคนหนึ่งกล่าวกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า

"ขอได้โปรดสั่งเสียแก่ฉันด้วยเถิด"

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่า

"อย่าได้เป็นคนโกรธง่าย"

ชายผู้นั้นพูดซ้ำอีกหลายครั้ง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบอีกว่า

"ท่านอย่าโกรธง่าย"

(บันทึกโดย บุคอรี)

มีผู้หนึ่ง ถามท่านนบีถึงการปฏิบัติ สิ่งที่ก่อให้เกิดผลบุญ ท่านนบีได้อธิบายให้บุคคลผู้นั้นฟัง และ กล่าวในตอนท้ายว่า "ท่านประสงค์จะให้ฉันบอกให้ท่านเกี่ยวกับกุญแจของสิ่ง เหล่านั้นทั้งหมดไหม" ... บุคคลผู้นั้นตอบว่า "ใช่แล้ว โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺ" แล้วท่านนบี จึงจับลิ้นของท่าน และกล่าวว่า "ท่านจงระวังสิ่งนี้" บุคคลผู้นั้น กล่าวว่า "โอ้นบีแห่งอัลลอฮฺ เราถูกกำชับ (ถูกลงโทษ) อันเนื่องจากสิ่งที่เราได้พูดกระนั้นหรือ

ท่านตอบว่า "สิ่งที่ทำให้มนุษย์ถลาใบหน้าของเขา ไปยังนรกก็เพราะคำพูดของเขามิใช่หรือ" (หะดีษนี้บันทึกโดย ติรมิซี )

......เหล่านี้ เป็นตัวอย่าง จากคำสอนของ ท่านนบี ... ซึ่งเป็นคำตักเตือนที่ดี และเป็นแบบอย่างที่ดี ให้มุสลิมเรา ยึดถือปฏิบัติ ทั้งนี้ อัลกุรอาน ซึ่งเป็นพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้า ก็ได้กล่าวว่า จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระเจ้าของสูเจ้าโดยสุขุม และการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า แท้จริงพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงบรรดาผู้ที่อยู่ในทางที่ถูกต้อง (กุรอาน 16:125)นี่ คือ คำตักเตือนที่ดียิ่งจากพระผู้เป็นเจ้า และ เป็นคำตักเตือนที่มุสลิมเรา สมควรจะนำไปใช้ในทุกเวลา ที่เราเดินไปบนหนทาง ที่เรียกว่า อิสลาม



ด้วยจิตคารวะครับ

(หากนำไปเเผยแพร่ กรุณาระบุที่มา)

สตรี กับ อิสลาม


ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่านครับ



…กุรอาน 114 ซูเราะห์ (บท) มีอยู่ซูเราะห์หนึ่ง เป็นซูเราะห์ลำดับที่ 4 มีนามว่า อัน-นิซาอฺ (An-Nisaa) แปลว่า บรรดาสตรี...เพราะเนื่องจากว่า ในซูเราะห์นี้ ได้กล่าวเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ และข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับสตรีไว้มากมาย อันแสดงถึงการให้ความสำคัญต่อข้อควรปฏิบัติของสตรี ในหลักการของอิสลาม


ฐานะของสตรีในอิสลาม

...อัลเลาะห์ได้ทรงกำหนดให้สตรีมีความเท่าเทียมกับบุรุษในความเป็นมนุษย์ เฉกเช่นความเท่าเทียมกันในการรับผลบุญและการลงโทษในการประพฤติปฏิบัติ อัลเลาะห์ตรัสว่า :

“ผู้ใดปฏิบัติความดีไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิงก็ตาม โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้นเราจะให้เขาดำรงชีวิตที่ดี และแน่นอนเราจะตอบแทนพวกเขาซึ่งรางวัลของพวกเขาที่ดียิ่งกว่าที่พวกเขาได้เคยกระทำไว้ (กุรอาน 16:97 )

โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ไม่อนุมัติแก่พวกเจ้าที่พวกเจ้าจะเอาบรรดาผู้หญิงเป็นมรดกด้วยการบังคับ (กุรอาน 4:19)



ศาสนากล่าวว่า "ในวันพิพากษา หากสตรีคนใดจะต้องถูกลงโทษ เพราะ ความผิดของนางในโลกนี้แล้ว ...ผู้ชาย4 คนซึ่งได้แก่ บิดา พี่ชายหรือน้องชาย สามีและลูกชาย จะต้อง ร่วมรับผิดชอบด้วย หากเขาเหล่านั้น มิได้ทำการตักเตือน สั่งสอนหรือห้ามปรามนาง"

นอกจากนี้ อิสลามยังได้วางกฎเกณฑ์ในด้านต่าง ๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสตรี และสิทธิอันชอบธรรมของบรรดาสตรีทั้งมวล


-----------------------------------------------------------------------------------
สิทธิของสตรีในการแสวงหาความรู้

…อิสลามไม่ได้ห้ามหรือขัดขวางสตรีในการแสวงหาความรู้ ดังที่นักวิชาการตะวันตกมักโจมตี โดยมักยกเอากรณี ตาลีบัน มาเป็นข้ออ้าง แต่เขาเหล่านั้นกลับไม่เคยอ้างถึงหลักการที่แท้จริงของอิสลามเลย...

...ท่านศาสนทูต กล่าวว่า "การแสวงหาความรู้ เป็นข้อบังคับเหนือมุสลิมทุกคน และแท้จริงผู้แสวงหาความรู้นั้น ทุกๆสิ่ง จะขออภัยให้แก่เขา แม้แต่ปลาในท้องทะเล" (รายงานโดย อิบนุอับดิลบัรรฺ จาก อนัส)

และหะดิษที่ว่า “จงศึกษาตั้งแต่อยู่ในเปล จนถึงหลุมฝังศพ”

...เกี่ยวกับการทำงาน หรือการเรียนรู้ที่ต้องออกจากบ้านนั้น .....เชค ดอกเตอร์ ซอและห์ บิน เฟาซาน บิน อับดุลเลาะฮ์ อัลเฟาซาล ได้ฟัตวา(วินิจฉัยชี้ขาด) ว่า

1. นางหรือสังคมมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานนั้นโดยไม่มีผู้ชายมาทำ
2. งานนั้นต้องเป็นงานรองหลังจากงานหลักของนางที่บ้าน (คือ งานบ้านต้องสำคัญเป็นอันดับแรก)
3. เป็นงานที่ทำในแวดวงของผู้หญิง ไม่ปะปนกับผู้ชาย เช่น สอนนักเรียนหญิง รักษาพยาบาลคนไข้หญิง เป็นต้น หรือมีการแยกส่วนกันอย่างชัดเจน
4. อนุญาตหรือจำเป็นที่สตรีต้องเรียนรู้ศาสนาเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวของนาง และเรียนสิ่งที่มีความจำเป็นต่อตัวนางในการใช้ชีวิตบนโลกนี้ โดยการเรียนการสอนต้องไม่ปนกับ
ผู้ชาย นางสามารถไปเรียนที่มัสยิด ได้แต่นางต้องแต่งตัวมิดชิด แยกจากผู้ชาย

....นอกจากนี้ท่านนบีมุฮัมมัดได้สนับสนุนให้พ่อแม่ อบรบสั่งสอนลูกสาวให้มีความรู้เละมีคุณธรรม โดยกล่าวว่า “ใครที่เลี้ยงลูกสาวอย่างดีจนกระทั่งโต เขากับฉันจะได้อยู่ด้วยกันในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ”...แล้วท่านก็ยกนิ้วสองนิ้วติดกัน

-----------------------------------------------------------------------------------
สิทธิของสตรีในการเลือกคู่ครอง

…อิสลามได้เปิดโอกาสให้สตรี มีโอกาสเลือกคู่ครองได้ด้วยตนเอง โดยให้พิจารณา ความเป็นคนมีคุณธรรม (อิหม่าน) เป็นอันดับแรก...นอกจากนี้อิสลามได้วางระบบการแต่งงานให้เอื้ออำนวยประโยชน์แก่สตรีและผู้ปกครองของนาง นั่นคือ สตรีจะแต่งงานได้เมื่อมี วลี (ผู้ปกครอง หรือผู้รับมอบอำนาจการแต่งงาน) เท่านั้น...และวลี ก็ต้องได้รับความยินยอมหรือการตกลงใจจากฝ่ายเจ้าสาวเท่านั้น...นั่นคือ สตรีจะแต่งงานโดยพลการไม่ได้ และวลีก็ไม่มีสิทธิ์บังคับให้สตรีแต่งงานได้เช่นกัน

...นอกจากนี้อิสลาม ได้วางหลักเกณฑ์เรื่องสินสอด (มะฮัร) โดยกำหนดว่าผู้ชายจะต้องเป็นผู้ให้ของขวัญแต่งงานแก่เจ้าสาวของขวัญนี้เรียกว่า “มะฮัรฺ” ซึ่งผู้หญิงมีสิทธิ์เรียกร้องและเป็นของผู้หญิง คัมภีร์กุรอานกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าผู้ชายมีหน้าที่ต้องให้มะฮัรฺแก่ผู้หญิง เว้นเสียแต่ว่าผู้หญิงเลือกที่จะไม่รับ

"จงให้มะฮัรฺแก่นางด้วยความเต็มใจ แต่ถ้านางเห็นชอบที่จะให้สิ่งหนึ่งแก่สูเจ้า ก็จงกินมันด้วยความสำราญและตามที่พอใจ" (กุรอาน 4:4)

นั่นคือ...บุคคลเดียวที่มีสิทธิกำหนดจำนวนและมูลค่าของสินสอดนั้น คือ สตรีที่เป็นเจ้าสาว เท่านั้น ไม่ใช่บิดามารดา หรือญาติทางฝ่ายหญิง


-----------------------------------------------------------------------------------
สตรีมุสลิมในฐานะภรรยา

...อิสลามได้ยกย่องสตรีในฐานะภรรยา และวางข้อปฏิบัติระหว่างสามี ภรรยาไว้อย่างยุติธรรม เพื่อป้องกันการละเมิดจากกันและกัน โดยมีตัวอย่างจากท่านบีมูฮัมหมัดเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติต่อภรรยา

...ท่านหญิงอาอิชะฮ์ (ร.ด.) เล่าว่า “เมื่อท่านนบีอยู่บ้าน ท่านจะช่วยภรรยาของท่านทำงานบ้านเป็นประจำ” (รายงานโดย บุคคอรี)



มีหะดิษที่รายงานเกี่ยวกับสถานภาพของภรรยาเช่น

มุสลิมที่สมบูรณ์ยิ่ง คือผู้ที่มีความประพฤติอ่อนโยน และผู้ที่ถูกยกย่องในท่านทั้งหลาย คือผู้ที่มีคุณธรรมที่สุดต่อภรรยาของตน

“โลกมีสิ่งที่อำนวยความสุข แต่สิ่งที่ดีที่สุด คือ กุลสตรีที่เป็นภรรยาที่ดีและมีคุณธรรม”

“โอ้ประชาชนทั้งหลายพวกท่านทั้งหลายมีสิทธิที่ได้รับมอบหมายเหนือฝ่ายสตรี และฝ่ายสตรีก็มีสิทธิเหนือฝ่ายชายเช่นกันในหน้าที่ที่ท่านได้รับมอบหมาย ดังนั้นพวกท่านจงได้ปกป้องดูแลภรรยาของพวกท่านด้วยความรักความเมตตาเถิด แน่นอนใครที่ทำได้เช่นนั้นก็เท่ากับเขาได้ปกครองดูแลภรรยาของเขาเอาไว้ให้อยู่ในความพิทักษ์รักษาของพระผู้เป็นเจ้า”

นอกจากนี้กุรอานยังกล่าวไว้ว่า .-

"และสิทธิของพวกนางเหมือนกันกับสิทธิของสามี ที่พึงมีอยู่เหนือนางโดยชอบธรรม " (กุรอาน 2:228)

"และพวกเจ้าจงร่วมชีวิตกับพวกนางด้วยคุณธรรม" (กุรอาน 4:19)

...แม้ว่า อิสลาม จะอนุญาตให้สามีลงโทษภรรยาได้ โดยไม่เกินกว่าเหตุ ... แต่สิ่งหนึ่งที่อิสลามห้ามอย่างเด็ดขาดก็คือ “การตบหน้าภรรยา” เพราะอิสลามถือว่าเป็นการดูหมิ่นเกียรติและศักดิ์ศรีของภรรยาอย่างรุนแรง


-----------------------------------------------------------------------------------
สตรีมุสลิมในฐานะผู้ถูกหย่า

....อิสลาม ห้ามอย่างเด็ดขาดในการอธรรมต่ออดีตภรรยา ด่วยการเอาสิ่งใด สิ่งหนึ่งคืนมาจากภรรยาด้วยสาเหตุของการหย่า เช่น

"และถ้าพวกนางปรารถนาที่จะสับเปลี่ยนคู่ครอง คนหนึ่งแทนที่ของคู่ครองอีกคนหนึ่ง (โดยหย่าคนเดิม) และพวกเจ้าเคยให้แก่คนหนึ่งจากพวกนางซึ่งทรัพย์สมบัติอันมากมาย ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่าเอาสักสิ่งหนึ่งจากนั้น (คืนมา)...” (กุรอาน 4:20)

...คัมภีร์กุรอานเน้นถึงเรื่องการให้ความกรุณาปรานีแก่ผู้หญิงถึงแม้ว่าจะหย่านางไปแล้ว


“หลังจากนั้น เมื่อพวกนางอยู่จนสิ้นสุดระยะเวลาแห่งการรอคอยแล้ว จงรั้งตัวพวกนางไว้ด้วยดีหรือไม่ก็ให้พวกนางจากไปด้วยดี” (กุรอาน 65:2)


…นั่นหมายความว่ามุสลิมจะต้องไม่กักตัวภรรยาของตัวเองไว้อย่างไม่มีจำกัดเวลาโดยไม่ตัดสินใจว่าจะให้ เธอเป็นภรรยาต่อหรือจะแยกจากเธอ


-----------------------------------------------------------------------------------
สตรีมุสลิมในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์


...ในขณะที่สตรีชาวอังกฤษยังไม่ถูกยอมรับว่ามีสิทธิเป็นเจ้าของในการครอบครองสิ่งต่างๆ จนถึงปี1870 เช่นเดียวกันกับสตรีชาวเยอรมัน จนถึงปี 1900 สตรีชาวสวิสเซอร์แลนด์ จนถึงปี1907 และสตรีชาวอิตาลีจนถึงปี1919 …แต่สิทธิของสตรีมุสลิมในการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้นมีมานานกว่า 1,400 ปีแล้ว

"สำหรับบรรดาผู้ชายนั้น ย่อมมีส่วนรับของตนเอง จากที่พวกเขาได้อุตสาหะไว้ และสำหรับผู้หญิงก็มีส่วนรับ (ของตนเอง) จากที่พวกนางได้อุตสาหะไว้ " ( กุรอาน 4 :32 )


-----------------------------------------------------------------------------------
สตรีมุสลิมในฐานะมารดา

…อิสลามกล่าวยกย่องสตรี ในฐานะมารดาไว้มากมาย และประณามผู้ที่ทำให้มารดาของตนต้องได้รับความเสียใจไว้อย่างรุนแรง อาทิเช่น

"และพระเจ้าของเจ้าบัญชาว่า พวกเจ้าอย่าเคารพภักดีผู้ใดนอกจากพระองค์เท่านั้นและจงทำดีต่อบิดามารดาเมื่อผู้ใดในทั้งสองหรือทั้งสองบรรลุสู่วัยชราอยู่กับเจ้า ดังนั้นอย่ากล่าวแก่ทั้งสองว่า อุฟ (คำอุทานแสดงความเบื่อ ความรำคาญและรังเกียจ) และอย่าขู่เข็ญท่านทั้งสอง และจงพูดแก่ท่านทั้งสองด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน ….และจงนอบน้อมแก่ท่านทั้งสอง ซึ่งการถ่อมตนเนื่องจากความเมตตา และจงกล่าวว่า “ข่าแต่พระเจ้าของฉัน ทรงโปรดเมตตาแก่ท่านทั้งสองเช่นที่ทั้งสองได้เลี้ยงดูฉันเมื่อเยาว์วัย” (กุรอาน 17: 23-24)

( นักวิชาการมุสลิม กล่าวว่า การที่กุรอานสั่งให้ทำความดีต่อบิดามารดา หลังจากใช้ให้เคารพภักดีต่อพระองค์นั้น...เป็นการแสดงถึงความสำคัญของ บิดามารดา และความสำคัญในการทำดีต่อท่านทั้งสองเป็นอย่างสูง )

ท่านนบีมุฮัมมัด ได้กล่าวหะดิษที่เกี่ยวข้องกับ บิดา มารดาไว้มากมายเช่น

“บาปที่ยิ่งใหญ่คือการยกสิ่งอื่นเทียบเคียงอัลเลาะห์ การฆ่ามนุษย์ การอกตัญญูต่อพ่อแม่ และการเป็นพยานเท็จ (บันทึกโดยบุคคอรี)

"สวรรค์นั้นอยู่ใต้ฝ่าเท้าของมารดา" (บันทึกโดย นะซาอี)

"ความพอพระทัยของอัลลอฮฺขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแม่ และความกริ้วของอัลลอฮฺนั้นก็ขึ้นอยู่กับความโกรธและความไม่พอใจของพ่อแม่ ลูกจะต้องไม่ทำให้พ่อแม่ต้องโกรธ"

ครั้งหนึ่ง ท่านอบูฮุรอยเราะห์ ได้มาท่านนบีและถามว่า ใครจะเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของฉัน ท่านนบีตอบว่า
“แม่ของท่าน” ท่านอบูฮุรอยเราะห์จึงถามต่อว่า แล้วใครอีก ท่านนบีตอบว่า “แม่ของท่าน” ท่านนบีตอบเช่นนี้อยู่ 3 ครั้ง และในครั้งที่ 4 ท่านจึงตอบว่า “พ่อของท่าน”...(หะดิษบุคคอรีและมุสลิม)


-----------------------------------------------------------------------------------------

ทั้งหมดคือ เรื่องราวเพียงบางส่วนของสตรีในศาสนาอิสลาม ครับ ทิ้งท้ายไว้ด้วยคำกล่าวที่ว่า

“อัลลอฮ์สร้างผู้ชายให้มาพิชิตโลกนี้ แต่ขณะเดียวกัน ...ก็สร้างผู้หญิงให้มาพิชิตผู้ชาย”



ด้วยจิตคารวะ

(หากนำไปเผยแพร่ กรุณาระบุที่มา)

การใช้สติปัญญา



อัลกุรอานนั้น เป็นคัมภีร์ที่ไม่ได้สั่งสอนให้มนุษย์เชื่อและศรัทธาแต่อย่างเดียวเฉกเช่นคัมภีร์ในศาสนาอื่น ๆ หากแต่เรียกร้องและกระตุ้นเตือนให้มนุษย์นั้น ใช้สติปัญญาในการไตร่ตรอง และ คิดวิเคราะห์ อย่างมีขั้นตอน ตามรูปแบบของตรรกวิทยา และกระบวนการค้นหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์


" และมิเคยปรากฏว่าชีวิตใดจะศรัทธาเว้นแต่ด้วยอนุมัติของอัลลอฮ์ และพระองค์จะทรงลงโทษแก่บรรดาผู้ไม่ใช้สติปัญญา" (กุรอาน 10:100)

"โอ้บรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ ! เพราะเหตุใดเล่าพวกเจ้าจึงโต้เถียงกันในตัวของอิบรอฮีม และอัตเตารอต และอัลอินญีลนั้นมิได้ถูกประทานลงมา นอกจากหลังจากเขา แล้วพวกเจ้าไม่ใช้ปัญญาดอกหรือ" (กุรอาน 3:65)


"พวกเจ้าใช้ให้ผู้คนกระทำความดี โดยที่พวกเจ้าลืมตัวของพวกเจ้าเองกระนั้นหรือ ? และทั้ง ๆ ที่พวกเจ้าอ่านคัมภีร์กันอยู่ แล้วพวกเจ้าไม่ใช้ปัญญากระนั้นหรือ ?" (กุรอาน 2:44)

"....พวกท่านไม่ใช้ปัญญาดอกหรือ?" (กุรอาน 2:76)

"....อัลลอฮ์จึงทรงแจกแจงโองการทั้งหลายให้พวกเจ้าทราบ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ใคร่ครวญ" (กุรอาน 2:266)
"....ที่พระองค์ได้ทรงสั่งเสียมันไว้แก่พวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะใช้ปัญญา" (กุรอาน 6:151)

"แท้จริงในการสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน และสับเปลี่ยนกลางคืนและกลางวัน และเรือที่วิ่งอยู่ในทะเล พร้อมด้วยสิ่งที่อำนวยประโยชน์แก่มนุษย์ และน้ำ ที่อัลลอฮ์ได้ทรงให้หลั่งลงมาจากฟากฟ้า แล้วทรงให้แผ่นดินมีชีวิตชีวาขึ้น ด้วยน้ำนั้นหลังจากที่มันตายไปแล้ว และได้ทรงให้สัตว์แต่ละชนิด แพร่สะพัดไปในแผ่นดิน และในการให้ลมเปลี่ยนทิศทาง และให้เมฆซึ่งถูกกำหนดให้บริการ(แก่โลก) ผันแปรไประหว่างฟากฟ้าและแผ่นดินนั้น แน่นอนล้วนเป็นสัญญาณนานาประการแก่กลุ่มชนที่ใช้ปัญญา" (กุรอาน 2:164)



ในโองการข้างต้น ถ้าสังเกตให้ดีเราจะพบว่า กุรอานนั้น กำลังชี้นำให้มนุษย์ รู้จัก

1.การ สังเกต สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเขา
2.การตั้งคำถาม หรือ การตั้งสมมติฐาน เพื่อค้นหาที่มาของการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น
3.การวิเคราะห์ และการกระบวนการค้นหาคำตอบจากสิ่งที่สังเกต
4.การสรุปและการหาคำตอบจากสิ่งที่ได้ตั้งข้อสังเกตนั้น

ในประโยคที่ว่า “แน่นอนล้วนเป็นสัญญาณนานาประการแก่กลุ่มชนที่ใช้ปัญญา” นั้น เป็นข้อความที่ชี้ให้เห็นว่า บรรดาสิ่งต่าง ๆ ที่กุรอานกล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นเพียง สื่อ หรือ สัญญาณ ที่กำลังมุ่งชี้ให้เห็นอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านั้น และการที่จะเข้าใจมันได้ ก็ด้วยการอาศัยสติปัญญาตรึกตรอง และใคร่ครวญเท่านั้น


โองการนี้จึงเป็นข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง อิสลาม และศาสนาที่นับถือพระเจ้าอื่น ๆ ก็ด้วยเหตุที่ว่า ศาสนาที่นับถือพระเจ้าอื่น ๆ นั้น ล้วนแต่สั่งสอนให้สาวกศรัทธา และมีความเชื่อ อย่างแรงกล้า เพื่อที่จะเข้าหาพระเจ้า หากแต่อิสลามกลับมุ่งเน้นให้มนุษย์ใช้สติปัญญาพิจารณาสิ่งรอบตัว เพื่อค้นหาพระเจ้า ระบบการพิสูจน์พระเจ้าในศาสนาอิสลามจึง เริ่มจาก ... ผล... แล้วย้อนรอยกลับไปหา ...ต้นเหตุ...


เมื่อ ผล สืบถึง เหตุ ได้ ... เหตุ ก็สืบไปหา ผล ได้ ซ้ำไปซ้ำมาจนเกิดเป็นกระบวนการที่ซ้ำกัน ซึ่งก็คือ ข้อหนึ่งในหลักการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า ผลสรุปทางวิทยาศาสตร์นั้นย่อมมีการทำซ้ำได้ทุกครั้ง

พระเจ้า ในศาสนาอิสลาม จึงถูกพิสูจน์ซ้ำได้เสมอ นับแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน เมื่อผู้ใดก็ตามที่สงสัยการมีอยู่ของพระเจ้า กุรอาน จะบอกให้เขาผู้นั้น ย้อนกลับไปพิจารณาสิ่งที่อยู่รอบข้างเขาก่อนเสมอ เพราะแท้ที่จริงแล้ว ทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติย่อมเป็นพยานยืนยันการมีอยู่ของพระเจ้าเสมอ


ด้วยจิตคารวะ


(หากนำไปเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงที่มา)