วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552

บทลงโทษ การพ้นจากศาสนาอิสลาม

ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่านครับ

ก่อนอื่นทำความเข้าใจก่อนนะครับว่า หลักการของศาสนาอิสลาม มาจาก 2 แหล่ง คือ
1.กุรอาน
2.ซุนนะห์ (แนวทาง กิจปฏิบัติ รวมทั้งคำพูด) ของท่านศาสดา

หลักการใดขัดแย้งไปจากนี้ถือว่า ไม่ใช่หลักการอิสลาม และหากหลักการใดมีการขัดแย้งกันเอง ให้ถือว่ากุรอานคือข้อตัดสินขั้นเด็ดขาดครับ

การพ้นไปจากศาสนาอิสลามนั้น ในภาษาอาหรับ คือ “ริดดะฮฺ” ซึ่งแปลว่า การหันหลังให้ ส่วนผู้ที่กระทำการดังกล่าว เรียกว่า มุรตัด ซึ่งเป็นที่เข้าใจในหลาย ๆ ครั้งว่า โทษคือการประหารชีวิต ... แต่ในความเป็นจริงเมื่อเราพิจารณาจากกุรอาน เราจะพบว่า กุรอานได้บัญญัติเรื่องการพ้นจากศาสนาไว้ 13 อายะห์ (โองการ) ในแต่ละซูเราะห์ (บท) เช่น

“...จนกว่าเจ้าจะปฏิบัติตามศาสนาของพวกเขา จงกล่าวเถิด แท้จริงคำแนะนำของอัลลอฮ์เท่านั้น คือ คำแนะนำ แน่นอนถ้าเจ้าปฏิบัติตามความใคร่ของพวกเขา หลังจากที่มีความรู้มายังแล้ว ก็ย่อมไม่มีผู้คุ้มครองและผู้ช่วยเหลือใด ๆ สำหรับเจ้าให้พ้นจากการลงโทษของอัลลอฮ์ได้” (กุรอาน 2:120)

“และผู้ใดแสวงหาศาสนาหนึ่งศาสนาใดอื่นจากอิสลามแล้ว ศาสนานั้นก็จะไม่ถูกรับจากเขาเป็นอันขาด และในปรโลกเขาจะอยู่ในหมู่ผู้ขาดทุน” (กุรอาน 3:85)

“ผู้ใดปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮ์หลังจากที่เขาได้รับศรัทธาแล้ว(เขาจะได้รับความกริ้วจากอัลลอฮ์) เว้นแต่ผู้ที่ถูกบังคับทั้งๆ ที่หัวใจของเขาเปี่ยมไปด้วยศรัทธา แต่ผู้ใดเปิดหัวอกของเขาด้วยการปฏิเสธศรัทธา พวกเขาก็จะได้รับความกริ้วจากอัลลอฮ์และสำหรับพวกเขาจะได้รับการลงโทษอย่างมหันต์” (กุรอาน 6:106)

แต่จากทั้งหมด พบว่า ไม่มีโองการใดเลยที่ระบุถึงโทษทัณฑ์ที่ต้องได้รับบนโลกนี้ โทษทั้งหมดถูกระบุว่าเป็นความรับผิดชอบของพระผู้เป็นเจ้าทั้งสิ้น

ถึงแม้ว่า จะมีการก่อตั้งรัฐอิสลามขึ้นแล้วก็ตาม ก็ยังไม่มีโองการใดระบุว่าต้องทำโทษหรือประหารผู้ที่หลุดพ้นจากศาสนา อาทิเช่น ซูเราะห์อัล บากอเราะห์ อายะห์ที่ 217 ความว่า

“...และผู้ใดในหมู่พวกเจ้ากลับออกไปจากศาสนาของเขา แล้วเขาตายลง ขณะที่เขาเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาแล้วไซร้ ชนเหล่านี้แหละบรรดาการงานของพวกเขาไร้ผล ทั้งในโลกนี้และปรโลก และชนเหล่านี้แหละคือชาวนรก ซึ่งพวกเขาจะอยู่ในนรกนั้นตลอดกาล”

นักการศาสนาบางท่านให้ความเห็นว่า การพ้นจากศาสนานั้น เป็นความผิดที่เขาผู้นั้นต้องรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าเอง ซึ่งหากว่ามีการลงโทษประหารชีวิตด้วยเหตุผลของการพ้นจากศาสนาจริง มันก็จะไปขัดแย้งกับโองการที่ว่า -

"ไม่มีการบังคับใด (ให้นับถือ) ในศาสนา อิสลาม แน่นอน ความถูกต้องนั้นได้เป็นที่กระจ่างแจ้งแล้วจากความผิด ดังนั้นผู้ใดปฏิเสธศรัทธาต่อ อัฎ-ฎอฆูต(ซัยตอน) และศรัทธาต่ออัลลอฮ์แล้ว แน่นอนเขาได้ยึดห่วงอันมั่นคงไว้แล้ว โดยไม่มีการขาดใด ๆ เกิดขึ้นแก่มัน และอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้" (กุรอาน 2:256)

เมื่อไม่มีการระบุการลงโทษในทางโลกที่บันทึกในกุรอานแล้ว หากมามองในแง่ของซุนนะห์ท่านศาสดาจะพบว่า

ครั้งหนึ่ง มีชาวยิวกลุ่มหนึ่ง มาเข้ารับศาสนาอิสลาม แต่ต่อมาก็ได้ละทิ้งอิสลามและกลับไปสู่ศาสนาเดิม ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้ถูกกล่าวไว้ในซูเราะห์อาลิอิมรอน อายะห์ที่ 71-73 แต่ทั้งหมดก็ไม่ได้ถูกท่านศาสดาลงโทษแต่ประการใด ... หรืออีกกรณีหนึ่งที่อาหรับเบดูอิน คนหนึ่งมาหาท่านศาสดาและขอเข้ารับอิสลาม แต่ต่อมาเขาก็ล้มป่วยและมาขอยกเลิกการเป็นมุสลิม (คือ เปลี่ยนจากอิสลามไปเป็นอย่างอื่น) ถึง 3 ครั้ง แต่ทั้ง 3 ครั้งท่านศาสดาก็ปฏิเสธอย่างสุภาพ จนสุดท้ายเขาจึงเดินทางออกไปจากมาดีนะห์ ซึ่งท่านศาสดาก็ไม่ได้กล่าวโทษเอาผิด หรือส่งทหารออกตามล่าแต่อย่างใด

จากบทสรุปในหลายส่วน นักวิชาการมุสลิมให้ความเห็นในหลายด้าน บ้างก็ว่า การพ้นจากศาสนาจำเป็นต้องถูกประหารโดยอ้างเอาหะดิษ ของอิบนุอับบาส ที่ว่า “ผู้ใดเปลี่ยนศาสนาจงฆ่าเขา” หรือหะดิษที่เกี่ยวกับชนเผ่าอูกัลป์เป็นต้น แต่ทั้งหมดก็ถูกอีกฝ่ายโต้แย้ง โดยอ้างหลักฐานจากกุรอานในซูเราะห์ที่ 2 อายะห์ที่ 256 และซุนนะห์ท่านศาสดา โดยวิจารณ์ว่าการสังหารที่เกิดขึ้น เป็นเพราะคดีความอื่น (เช่นการปล้น) ไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนศาสนา

โดยทั้งนี้มีหลักฐานบางประการจากคอลีฟะห์อุมัร (รด.) ว่าท่านได้สั่งให้ทหารของท่านจัดการกับผู้เปลี่ยนศาสนาอย่างสันติวิธี หรือหากชักชวนไม่ได้ผล ก็ควรจำคุกดีกว่าการประหารนักวิชาการมุสลิมจึงให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนศาสนาของมุสลิมคนหนึ่งนั้น ควรจำกัดให้เป็นโทษแบบตะอฺซีร (คือ อยู่ในดุลพินิจของผู้พิพากษา) หากการเปลี่ยนศาสนานั้นไม่ได้ส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ก็ไม่จำเป็นต้องลงโทษ หรือแค่แนะนำ ตักเตือน แต่หากการเปลี่ยนศาสนามีผลต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเปลี่ยนด้วยเจตนาของการก่อกบฏต่อรัฐ ก็อาจจำคุก หรือประหารชีวิตได้ ซึ่งทัศนะนี้ได้รับการยอมรับมากกว่า ทัศนะของบางมัซฮับ (สำนักคิดทางนิติศาสตร์อิสลาม) ที่กล่าวว่ามันเป็นโทษประเภท ฮัด (ความผิดที่ชัดเจน)

สิ่งที่เราควรย้อนไปพิจารณาที่มาของการกำหนดโทษประหาร นั้นก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ในสมัยแรกเริ่มของการจัดตั้งอาณาจักรอิสลามนั้น มีผู้คนที่เข้ามานับถือศาสนาอิสลาม ด้วยเหตุผล 3 อย่างคือ 1. ศรัทธาในศาสนา 2.ต้องการได้รับผลประโยชน์ทางการค้าและการเมือง ในฐานะที่เป็นพลเมืองมุสลิม และ 3. คือ เข้ามาหาข่าว หรือ เป็นพวกสอดแนมจากฝ่ายศัตรูของมุสลิม

การกำหนดโทษของการประหาร จึงเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นแก่ความมั่นคงของศาสนา และ เป็นการพิสูจน์ว่า ผู้ที่ยอมรับนับถือศาสนาอิสลามนั้น คือ ผู้ที่จิตใจของเขา ศรัทธาและมั่นคงในอิสลามอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลงแล้ว

บรรดาผู้ที่เกลียดชังอิสลามนั้น ต่างพยายามหาข้อโจมตีศาสนาอิสลามในเรื่องนี้ แต่พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้พิจารณาด้วยใจที่เป็นธรรมว่า ... อิสลามนั้นไม่ได้บังคับให้ใครต้องมานับถือศาสนา ก่อนที่เขาเหล่านั้นจะเข้าใจในศาสนาอิสลาม ความจริงแล้วอิสลามกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ที่จะปฏิญาณตนเป็น มุสลิมนั้น คือ ผู้ที่จิตใจของเขาศรัทธามั่นในพระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียว และ พร้อมที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติต่าง ๆ ของศาสนาได้อย่างสมบูรณ์

หากไม่สามารถศรัทธา และ ปฏิบัติได้ตามที่บัญญัติไว้แล้ว ... การเป็นมุสลิมของเขาก็ไม่ถูกต้อง

...แล้วเหตุใด ศาสนาอิสลาม จึงต้องกลายมาเป็นจำเลย ให้กับ ความไม่จริงใจและความกลับกลอก ของบุคคลเหล่านี้ ???


ด้วยจิตคารวะ