วันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551

การศรัทธาในโลกหน้า..ทำไมและเพราะอะไร (ตอนที่ 2 )

2.เหตุผลของการศรัทธา คืออะไร

กุรอานได้บอกแก่เราว่า

“และชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้นั้นมิใช่อะไรอื่น นอกจากการเล่น และการเพลิดเพลินเท่านั้น และแน่นอนสำหรับบ้านแห่งอาคีเราะห์ นั้นดียิ่งกว่า สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง พวกเจ้าไม่ใช้ปัญญาดอกหรือ? (กุรอาน 6:32 )
อิสลามนั้น วางอยู่บนหลักปรัชญาพื้นฐานในการมีชีวิตอยู่ว่า “โลกนี้ถูกสร้างมาเพื่อนเรา แต่เราถูกสร้างมาเพื่อโลกหน้า” อันมีความหมายว่า บรรดาสิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ที่เราสัมผัสได้ ล้วนเป็นเพียงการตอบสนองต่อ มายาภาพ สิ่งทั้งหลายที่มากระทบนั้นล้วนไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงสิ่งที่มีขึ้น แล้วดับไป กุรอานได้อธิบายความรู้สึกเหล่านี้ด้วยประโยคที่ว่า

“และชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้นั้นมิใช่อะไรอื่น นอกจากการเล่น และการเพลิดเพลินเท่านั้น..”

โองการข้างต้น สะท้อนให้เห็นความไม่มีแก่นสารของสัมผัสเหล่านั้น มันถูกสร้างมาจากพระผู้อภิบาลของมัน เพียงเพื่อการตอบสนองความสุข และ ความทุกข์ บนโลกนี้เท่านั้น เพียงเพื่อให้มนุษย์ได้รู้จักแสวงหา รู้จักที่จะฝึกจิต และ เรียนรู้การแสวงหาสัจธรรม หรือ ความจริงสูงสุด

เมื่อโลกนี้ดับสูญ สิ่งเหล่านี้ก็ดับสูญในรูปลักษณ์ของมัน หน้าที่ของมันในโลกหน้าก็คือ การเป็นพยานยืนยันต่อสิ่งที่มนุษย์ได้เก็บเกี่ยวเอาไปจากมัน ความสวยงามที่เราเห็น จะฟ้องว่า ตอนที่เรามีชีวิตนั้น เราใช้มันทำอะไรบ้าง ... ใช้เสริมสวย ... ใช้เพื่อยั่วยวนราคะจริต หรือ ใช้เพื่อพิจารณาความเป็นไปของโลก ความน่าเกลียด ก็จะฟ้องเราว่า ตอนที่เรามีชีวิตนั้น เราใช้มันทำอะไรบ้าง ... ใช้ทำร้ายคนอื่น ... ใช้เพื่อสร้างความสนุกสนาน หรือ ใช้เพื่อจรรโลงใจเราให้สงบนิ่ง ดังที่กุรอานได้กล่าวว่า

“และสิ่งใดที่พวกเจ้ามิได้รับนั้น มันเป็นเพียงปัจจัยแห่งชีวิตของโลกนี้ และเป็นเครื่องประดับของมัน(*1*)แต่ที่อัลลอฮ์นั้นดีกว่าและจีรังกว่า(*2*)พวกเจ้าไม่ใช้ปัญญาใคร่ครวญดอกหรือ ?” (กุรอาน 28:60)

(1) คือสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้แก่มนุษย์ เช่น ทรัพย์สมบัติ และความดีต่าง ๆ นั้น มันเป็นเพียงปัจจัยเล็กน้อย ที่พวกเจ้าจะได้ใช้มันในชีวิตนี้เท่านั้น แล้วมันก็จะสูญสลายพินาศไป
(2) ส่วนที่อัลลอฮ์ทรงจัดเตรียมไว้ให้แก่บ่าวผู้ยำเกรงนั้น เช่น ผลบุญแห่งการตอบแทน และความโปรดปรานที่ยั่งยืนตลอดไปนั้นย่อมดีกว่าและประเสริฐกว่าปัจจัยที่สูญสลายยิ่งนัก


ดังนั้นสำหรับโลกนี้แล้ว จึงไม่มีอะไรมากไปกว่า สิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน ไม่มีตัวตนที่แท้จริง และ ไม่มีความมั่นคง หากแต่อิสลามนั้น ไม่ได้กล่าวว่า โลกนี้เป็นทุกข์ แต่อิสลามกล่าวว่า โลกนี้คือ บททดสอบ ทุกข์ในโลกนี้ ไม่จริง สุขในโลกนี้ไม่จริง ทุกอย่างเป็นไปเพื่อการทดสอบ เพื่อการแสวงหา และเพื่อการเข้าใจ

ความสุขในโลก มีไว้เพื่อทดสอบตัวมนุษย์เอง ว่าเขาจะหลงใหลไปกับมันหรือไม่ หรือ เพียงพอที่จะใช้ประโยชน์จากมัน ความทุกข์ก็เช่นกัน มีไว้เพื่อทดสอบตัวมนุษย์เอง ว่าเขาจะทุกข์ทรมานไปกับมันหรือไม่ หรือ เรียนรู้ที่จะใช้มันตักเตือนตนเอง กุรอานได้กล่าวว่า

“และเราได้แยกพวกเขาออกเป็นกลุ่มๆ ในแผ่นดิน จากพวกเขานั้นมีคนดี และจากพวกเขานั้นมีอื่นจากนั้น และเราได้ทดสอบพวกเขาด้วยบรรดาสิ่งที่ดี และบรรดาสิ่งที่ชั่ว..” (กุรอาน 7:168)

"ทุกชีวิตย่อมลิ้มรสความตาย และเราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยความชั่วและความดี และพวกเจ้าจะต้องกลับไปหาเราอย่างแน่นอน " (กุรอาน 21: 35)

ทุก ๆ การทดสอบล้วนมีผลตามมา กุรอานได้กล่าวว่า

“...ชีวิตนั้นจะได้รับการตอบแทนดีในสิ่งที่เขาได้แสวงหาไว้ และชีวิตนั้นจะได้รับการลงโทษในสิ่งชั่วที่เขาได้แสวงหาไว้..." (กุรอาน 2:286)

โลกหน้านั้น เป็นโลกแห่งการตอบแทน เป็นโลกที่จีรัง ยั่งยืน สภาพของโลกหน้านั้น ไม่มีใครรู้นอกจากที่กุรอานได้กล่าวไว้ และไม่มีใครเข้าใจในสิ่งที่กุรอานอุปมาโลกหน้าไว้ นอกไปจาก อัลเลาะห์ (ซบ.)

“จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) “ไม่มีผู้ใดในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินจะรู้ในสิ่งพ้นญาณวิสัย นอกจากอัลลอฮ์...” (กุรอาน 27:65)

การเดินทางสู่โลกหน้านั้น ไม่ใช่เรื่องของการตอบแทนความดี ความชั่ว ต้องแยกแยะตรงนี้ก่อน

การตอบแทนความดีความชั่วนั้น เป็นเรื่องของการกระทำ เป็นกฎแห่งกรรม ในขณะที่การเข้าสู่โลกหน้านั้นเป็นเรื่องของการศรัทธา กุรอานกล่าวว่า

“...ชีวิตนั้นจะได้รับการตอบแทนดีในสิ่งที่เขาได้แสวงหาไว้ และชีวิตนั้นจะได้รับการลงโทษในสิ่งชั่วที่เขาได้แสวงหาไว้..." (กุรอาน 2:286)

“ผู้ใดปรารถนาการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้และความเพริศแพร้วของมัน เราก็จะตอบแทนให้พวกเขาอย่างครบถ้วน ซึ่งการงานของพวกเขาในโลกนี้เท่านั้น และพวกเขาจะไม่ถูกลิดรอนในการงานนั้นแต่อย่างใด ชนเหล่านั้น พวกเขาจะไม่ได้รับการตอบแทนอันใดในโลกอาคิเราะฮ์ นอกจากไฟนรกและสิ่งที่พวกเขาได้ปฏิบัติไว้ในโลกดุนยาก็จะไร้ผลและสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้ก็จะสูญเสียไป” (กุรอาน 11: 15-16)

คุณลักษณะประการหนึ่งของอัลเลาะห์ คือ ความยุติธรรม แน่นอนว่าการตอบแทนการกระทำของมนุษย์นั้นก็ถูกวางอยู่บนหลักของความยุติธรรมเช่นกัน เมื่อมนุษย์ทำดี พระองค์ก็จะตอบแทนความดีแก่เขา และเมื่อเขาทำชั่ว พระองค์ก็จะตอบแทนความชั่วแก่เขา แต่สำหรับการตอบแทนในโลกหน้าที่จีรังยั่งยืนนั้น
พระองค์ได้กล่าวไว้แล้วว่า มีไว้สำหรับผู้ที่ศรัทธาต่อมันเท่านั้น ผู้ที่ไม่ศรัทธานั้น สภาพของเขาในโลกหน้าจึงเป็นได้แค่เพียง ผู้ที่ไม่เชื่อและปฏิเสธต่อโลกหน้า และกฎสำหรับโลกหน้านั้น สิ่งที่ผู้ปฏิเสธจะได้รับก็คือ ไฟนรก เท่านั้น

ด้วยเหตุที่ว่า เมื่อเขาไม่เชื่อในโลกหน้า ความดีและความชั่วทั้งหลาย จึงหมดลง และถูกตอบแทนจนหมดเพียงเฉพาะโลกนี้ เมื่อถึงโลกหน้า เขาจึงมีสภาพเหมือนที่กุรอานกล่าวไว้ว่า ผู้ที่ขาดทุน

“...แน่นอนพวกเขาได้ยังความขาดทุนให้แก่ตัวของพวกเขาเอง และสิ่งที่พวกเขาอุปโลกน์ขึ้นนั้น(คือ บรรดาพระเจ้าปลอม หรือ รูปปั้นทั้งหลาย) ได้หายหน้าจากพวกเขาไป” (กุรอาน 7:53 )

“และผู้ใดแสวงหาศาสนาหนึ่งศาสนาใดอื่นจากอิสลามแล้ว ศาสนานั้นก็จะไม่ถูกรับจากเขาเป็นอันขาด และในปรโลกเขาจะอยู่ในหมู่ผู้ขาดทุน” (กุรอาน 3:85)

แต่สำหรับผู้ที่ศรัทธาแล้ว การได้รับการตอบแทนในปรโลก คือ รางวัลของการศรัทธา ... ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ก่อน คำว่า การตอบแทนรางวัลของการศรัทธา กับ การตอบแทนการกระทำ

การตอบแทนรางวัลของการศรัทธา นั้น วางอยู่บนพื้นฐานของการศรัทธา หมายความว่า เมื่อเขาศรัทธา เขาจึงได้รับการตอบแทน ซึ่งก็คือ การที่เขาไม่ต้องลงสู่ไฟนรกอย่างผู้ขาดทุน

ส่วนการตอบแทนการกระทำ ก็คือ เมื่อเขาทำดี มากกว่า ความชั่ว เขาก็สามารถเข้าสู่สวงสวรรค์ได้ แต่หากเขาทำความชั่วมากกว่าความดี เขาก็ต้องไปรับการชดใช้ในนรก

ดังนั้น จะเห็นความแตกต่างก็คือ สำหรับผู้ที่ไม่เชื่อโลกหน้านั้น การกระทำของเขาจะได้รับการตอบแทนในโลกนี้ แต่โลกหน้านั้น เขาจะกลายเป็นเพียงเชื้อเพลิงให้กับไฟนรก ไม่มีการพิพากษาใด ๆ ไม่มีการอุทธรณ์ความดี หรือ ความชั่วใด ๆ แก่เขา … ในขณะที่ ผู้ที่ศรัทธานั้น การตอบแทนกระทำของเขา จะถูกแยกเป็น 2 ส่วน คือ ตอบแทนทั้งในโลกนี้ และ ในโลกหน้า สิ่งที่เป็นเกราะป้องกันไม่ให้เขาขาดทุนในโลกหน้า ก็คือ การศรัทธาในโลกหน้า นั่นเอง ให้เขาได้มีสิทธิ์ได้รับการพิพากษา ได้มีสิทธิ์ขอความช่วยเหลือจากบรรดา นบี ( ศาสดา) ส่วนเขาจะไปนรก หรือ สวรรค์ นั่นก็ขึ้นกับการกระทำของเขาเอง

ณ จุดนี้คงพอมองเห็นภาพรวมและเป้าหมายของการศรัทธาในโลกหน้าแล้ว ว่ามีเป้าหมาย เหตุผล และบทสรุปเช่นไร การใช้ชีวิตในโลกนี้ ก็เหมือนปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำนั่นแหละครับ ปลาย่อมคิดว่า โลกที่เห็น ก็คือ โลกที่เต็มไปด้วยน้ำ มองไปทางไหนก็มีแต่น้ำรอบตัวไปหมด โลกที่ไม่มีน้ำ จะมีอยู่จริงได้อย่างไร ... แต่เมื่อวันหนึ่งที่ได้ขึ้นมาอยู่บนโลกที่ไม่มีน้ำ ก็เพิ่งได้รู้ว่า โลกที่ไม่มีน้ำนั้นมีอยู่จริงๆ ... แต่มันก็สายไปแล้ว

“พระองค์นั้นคือผู้ที่ได้ส่งร่อซูลของพระองค์มาพร้อมด้วยคำแนะนำ และศาสนาแห่งสัจจะ เพื่อที่จะทรงให้ศาสนาแห่งสัจจะนั้นประจักษ์ เหนือศาสนาทุกศาสนา และแม้ว่าบรรดามุชริกจะชิงชังก็ตาม” (กุรอาน 9:33)

ด้วยจิตคารวะ
Kheedes

(สงวนสิทธิ์ หากนำไปเเผยแพร่ กรุณาระบุที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น: